หน้าหลัก | พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี | มจธ.
สืบค้นข้อมูล

Title พระวชิรญาณกับการปฎิรูปพระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
Object พงศธร กนกศิลปธรรม. "พระวชิรญาณกับการปฎิรูปพระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว," วารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 : มกราคม-เมษายน 2549 : 48-72. Call number
Object พระ ดร.อนิล ธมมสากิโย (ศากยะ). มิติใหม่แห่งการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับคณะธรรมยุต. กรุงเทพฯ : คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย, 2548. Call number DS581 พ-ม 2548
Summary ประวัติความเป็นมาของศาสนาพุทธที่เข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะธรรมยุติกนิกายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อพ.ศ.2372 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระวชิรญาณ (เจ้าฟ้ามงกุฎ หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะผนวชอยู่) เป็นผู้ก่อตั้ง เนื่องจากทรงมีความเห็นว่าพระพุทธศาสนาของสยามในขณะนั้น ปนเปไปด้วยแนวทางปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องและเต็มไปด้วยความเชื่อในเวทมนต์คาถา ทรงนำคัมภีร์พุทธวงศ์มาจากศรีลังกาและทรงนำแนวทางปฎิบัติของพระสงฆ์รามัญวงศ์มาศึกษา (พระสุเมธมุนี (ชาย พุทธวํโส)ซึ่งเป็นผู้ชำนาญพระวินัยปิฎก มีวัตรปฏิบัติเคร่งครัด สามารถทูลอธิบายเรื่องวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์รามัญคณะสีมากัลยาณี ให้ทรงทราบอย่างพิศดาร ทรงพิจารณาเห็นว่าสอดคล้องต้องกันกับพระพุทธพจน์ที่ทรงศึกษาจึงเลื่อมใส นำมาปฏิบัติ พระองค์จึงทำทัฬหีกรรม ทรงอุปสมบทซ้ำในคณะสงฆ์รามัญสีมากัลยาณีอีกครั้งหนึ่ง โดยมีพระสุเมธมุนี (ชาย พุทธวํโส) เป็นพระอุปัชฌาย์ ในปี พ.ศ.2368) และเผยแพร่หลักดังกล่าวให้แก่พระสงฆ์และประชาชนทั่วไป ซึ่งนับเป็นธรรมยุติกนิกายที่ถือกำเนิดจากภายในประเทศ ในขณะที่นิกายอื่นมักจะเกิดจากภิกษุไปบวชแปลงมาจากลังกาหรือมอญ
ในปี พ.ศ.2372 ทรงก่อตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้น มีพระสงฆ์ที่มาร่วมประพฤติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด จำนวน 10 รูป คือ
1.พระวชิรญาณ (เจ้าฟ้ามงกุฎ)
2.พระปัญญาอัคคเถระ หรือต่อมาคือ สมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
3.พระปุสสเถระ หรือต่อมาคือ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐ์
4.พระพุทธสิริเถระ หรือต่อมาคือ สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร
5.พระพุทธิสันหเถระ หรือต่อมาคือ พระอมรโมลี (นพ พุทฺธิสณฺโห) วัดบุปผาราม
6.พระพุทธสิริเถระ หรือต่อมาคือ พระเทพโมลี (เลี่ยม) วัดเครือวัลย์วรวิหาร
7.พระสุวัฑฒนเถระ หรือต่อมาคือ พระปลัดเรือง วัดบวรนิเวศวิหาร
8.พระพรหมสรเถระ หรือต่อมาคือ พระญาณรักขิต (สุข) วัดบรมนิวาส (ต่อมาลาสิกขาเป็นขุนนาง คือ พระธรรมการบดี)
9.พระธัมมรักขิตเถระ หรือต่อมาคือ พระครูปลัดทัต วัดบวรนิเวศวิหาร (ต่อมาลาสิกขาเป็นขุนนาง คือ พระศรีภูริปรีชา)
10.พระโสภิตเถระ หรือต่อมาคือ พระศรีสุทธิวงศ์ (ฟัก สาลักษณ์) วัดบวรนิเวศวิหาร (ต่อมาลาสิกขาเป็นขุนนาง คือ พระยาศรีสุนทรโวหาร)
ครั้นปี พ.ศ.2379 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอาราธนาพระวชิรญาณจากวัดสมอรายให้มาประทับเป็นเจ้าอาวาส ณ วัดใหม่บางลำพู ที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงสร้าง และพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดบวรนิเวศวิหาร" ทรงตั้งขนบธรรมเนียมจัดวางระเบียบการคณะสงฆ์และการปกครองวัดตลอดจนทรงพยายามชำระแนวคำสอนให้เป็นปรัชญาที่มีเหตุผล (Rationnal Philosophy) เพื่อให้สอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์ โดยเน้นแก่นสารของพระพุทธศาสนาและสัจธรรมอันลึกซึ้งที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นสำหรับเป็นแบบปฎิบัติของพระสงฆ์ในสำนัก และศิษย์สมณวงศ์ธรรมยุติกนิกายที่อยู่ ณ วัดอื่นคือ
1.ธรรมเนียมการทำวัตรเช้าทำวัตรเย็น
2.เผยแพร่คำสอนทางศาสนาของธรรมยุติกนิกาย โดยจัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่วัดตึกเพื่อตีพิมพ์เอกสารออกเผยแพร่ พร้อมกำหนดการธรรมเนียมธรรมสวนะ หรือการฟังธรรมในวันพระ เมื่อถึงวันพระกึ่งปักษ์และเต็มปักษ์ และมักเสด็จลงประทานอุโบสถศีลและเทศนาเป็นพื้น เทศนาโดยเน้นให้เกิดความเข้าใจมากกว่าการอ้างบาลี
3.ธรรมเนียมวิสาขบูชา เมื่อวันเพ็ญเดือนหก
4.ธรรมเนียมอัฐมีบูชา เมื่อวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6
5.ธรรมเนียมมาฆบูชา เมื่อวันเพ็ญ เดือน 3 มีเทศนาโอวาทปาติโมกข์
6.ธรรมเนียมกฐิน
7.ธรรมเนียมตั้งเจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์
8.ธรรมเนียมถวายกาลทาน
9.ธรรมเนียมเกี่ยวกับสงฆ์
10.ธรรมเนียมเกี่ยวกับการอุปสมบท
11.ธรรมเนียมการครองผ้า ห่มจีวร
12.ธรรมเนียมสวดมนต์
13.ทรงวางระเบียบการกราบไหว้ของภิกษุ สามเณร และระเบียบอาจาระมารยาท
14.การไม่ปฏิบัติตนว่าเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์วิเศษ
ข้อมูลจาก:
ข้อมูลจาก: พงศธร กนกศิลปธรรม. "พระวชิรญาณกับการปฎิรูปพระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว," วารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 : มกราคม-เมษายน 2549 : 48-72.