หน้าหลัก | พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี | มจธ.
สืบค้นข้อมูล

Title วัดสระเกศ
Object วัดสระเกศ Call number
Object โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบภูเขาทอง : ผลงานขั้นสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2550. หน้า 84-106. Call number
Summary วัดสระเกศ เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ขอบเขตของวัดทิศตะวันออกจรดถนนจักรพรรดิพงษ์ ทิศตะวันตกจรดคลองโอ่งอ่าง หรือคลองรอบกรุง ทิศเหนือจรดแนวคลองมหานาค ทิศใต้มีคูวัดซึ่งขุดต่อจากคลองโอ่งอ่าง (ขุดในที่ดินของวัด) เลียบเสนาสนะสงฆ์ไปจรดกับถนนจักรพรรดิพงษ์
วัดสระเกศ เดิมชื่อ "วัดสะแก" สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในรัชกาลที่ 1 คราวสร้างพระนคร และพระบรมมหาราชวังทรงโปรดให้ปฎิสังขรณ์วัดสะแกทั้งพระอาราม และพระราชทานเปลี่ยน นามใหม่ว่า "วัดสระเกศ"
ปูชนียสถานที่สำคัญของวัดสระเกศได้แก่
1.บรมบรรพต โดยมากเรียกกันว่า ภูเขาทอง สร้างเป็นรูปภูเขา มีพระเจดีย์อยู่บนยอด มีบันไดเวียนเป็นทางขึ้นไปถึงพระเจดีย์ 2 ทาง คือ ด้านเหนือทางหนึ่ง ด้านใต้ทางหนึ่ง สำหรับขึ้นและลงคนละทางเพื่อสะดวกในเวลาเทศกาล และยังมีบันไดตรงด้านใต้อีกทางหนึ่ง แต่บันไดตรงได้รื้อเสีย เมื่อคราวบูรณะปฏิสังขรณ์ พุทธศักราช 2493 ฐานโดยรอบวัดได้ 9 เส้น 5 วา ส่วนสูง 1 เส้น 19 วา 2 ศอก บรมบรรพตนี้ นับว่าเป็นปูชนียสถานอันสำคัญทางพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่ง และเป็นสมบัติทรงคุณค่าของชาติอีกด้วย การสร้างบรมบรรพตนี้ ได้เริ่มขึ้นในรัชกาลที่ 3 ด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะสร้าง พระเจดีย์ให้เหมือนอย่างวัดภูเขาทอง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งที่วัดภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น ตั้งอยู่ที่ชายทุ่ง มีพระเจดีย์อยู่องค์หนึ่ง เป็นที่สำหรับชาวพระนครศรีอยุธยาลงไปเล่นประชุมเพลง และสักวาในเทศกาลประจำปี จุดประสงค์เดิมก็เพื่อจะไปนมัสการพระเจดีย์ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีการประชุมรื่นเริงโดยทางเรือกันอยู่ ทรงพิจารณาเห็นว่าที่ที่วัดสระเกศ เป็นสถานที่เหมาะสม มีลำคลองล้อมรอบเหมือนอย่างวัดภูเขาทอง กรุงศรีอยุธยา จึงโปรดให้สมเด็จพระบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) ครั้งยังเป็นพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา เป็นแม่กองสร้าง แต่เนื่องจากพื้นที่ตอนนั้นเป็นสถานที่ติดกับชายคลองมหานาค พื้นดินตอนนั้นเป็นที่ลุ่มดินจึงอ่อนมาก ทานน้ำหนักพระเจดีย์ที่ก่อขึ้นไปไว้ไม่ไหว จึงได้ทรุดลงมาทุกครั้งจำต้องหยุดการก่อสร้าง พระเจดีย์นั้นจึงค้าง เป็นเพียงแต่กองอิฐ ภายหลังต้นไม้ขึ้นปกคลุมรกรุงรังอยู่ เมื่อแรกลงมือสร้างพระราชทานนามว่า พระเจดีย์ภูเขาทอง มีจดหมายเหตุเรื่องนี้อยู่ในพระราชพงศาดาร รัชกาลที่ 3 ที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เรียบเรียง ดังนี้ วัดสระเกศนั้น โปรดให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา ฯ (ทัด บุนนาค) เป็นแม่กอง ทำพระปรางค์องค์ใหญ่องค์หนึ่ง ฐานเป็นไม้สิบสอง ด้านหนึ่งยาว 50 วา ขุดรากลึกลงไปที่โคลนแล้ว เอาหลักแพทั้งต้นเป็นเข็มห่มลงไปจนเต็มที่แล้วเอาไม้ซุงทำเป็นฐานและปูเป็นตาราง แล้วเอาศิลาซึ่งราษฎรเก็บมาขายบรรจุลงไปจนเต็ม การก่อขึ้นไปได้ถึงชั้นทักษิณที่สอง ศิลาที่บรรจุข้างใน กดหนักลงไปจนเละทรุดลงไปถึง 9 วา อิฐที่ก่อหุ้มข้างนอกนั้นก็แตกร้าวรอบไปทั้งองค์ ของนี้ไม่ทลายก็เพราะทรุดกลางกดกันลงไป พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา ฯ ให้ขุดดินริมฐานพระชัณสูตรดู ก็พบหัวไม้ระเบิดขึ้นมาหมด จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ขอแรงพระราชวงศานุวงศ์ แลขุนนางข้าราชการที่ตามเสด็จพระราชทานพระกฐินผู้คนยังพรักพร้อมอยู่ ให้ปักเสาหลักแพเป็นหลักมั่นกันข้างนอกให้แน่นเป็นหลายชั้น กั้นฐานพระปรางค์ไม่ให้ดินถีบออกไป สิ้นไม้หลักแพหลายพันต้น แล้วก็จัดการก่อแก้ไขที่ทรุดหนักลงมาอีก 3 วา เห็นว่าจะแก้ไขไม่ได้แล้ว ก็เลิกการนั้นเสีย จึงทำแต่การอื่นต่อไป ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อปีชวด พุทธศักราช 2407 ได้โปรดให้กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ เป็นแม่กองทำบรมบรรพตที่ท้องสนามหลวง เป็นภูเขาสูงใหญ่ 13 วา มณฑปสูง 7 วา รวม 20 วา เป็นที่ไว้พระบรมอัฐิ แล้วมีมณฑปน้อยอีก 4 ทิศ เป็นที่ไว้พระอัฐิกรมพระราชวังบวรบ้าง พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่บ้าง มีศาลาช่อฟ้าบนยอดเขาต่อเนื่องมณฑปลงมา เป็นที่พระสงฆ์สดัปกรณ์และฉันด้วย มีพระที่นั่งทรงธรรมใหญ่อยู่ใกล้บรมบรรพต มีศาลารายล้อมภูเขาแทนสามสร้าง ภูเขานั้นทำวิจิตรมีรูปภาพและเครื่องจักรกลไกต่างๆ เกณฑ์เจ้าต่างกรมทำภูเขาน้อยอีก 4 ทิศ ประกวดประขันกัน แล้วขอแรงเจ้าต่างกรมที่ไม่ถูกเกณฑ์ และพระราชาคณะ ขอทำเก๋งมีเครื่องจักรกลไกในเก๋งต่าง ๆ ตั้งล้อมภูเขาออกไปอีกชั้นหนึ่งมีรูปสัตว์และระทาสูง 12 วา มีราชวัตรฉัตรธงเครื่องประดับและเครื่องเล่นเหมือนอย่างพระบรมศพอย่างใหญ่ทุกสิ่งทุกประการ โปรดเกล้า ฯ ให้เอารูปราชสีห์ไปตั้งให้ราษฎรดูด้วย แล้วได้เชิญพระพุทธรูปตั้งกระบวนแห่ แต่หน้าพระที่นั่งดุสิตารมย์ ออกไปสมโภชที่บรมบรรพต เสร็จแล้วเชิญพระพุทธรูปแห่กลับเข้าพระราชวัง เนื่องในการสร้างบรมบรรพตครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชปรารภถึงพระปรางค์องค์หนึ่ง ที่วัดสระเกศ ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างค้างไว้ ทรงพระราชดำริว่าของใหญ่ไม่ควรจะทิ้งไว้ให้เป็นกองอิฐอยู่ จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) ผู้เป็นบุตร สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) ผู้เป็นแม่กองสร้างในรัชกาลที่ 3 นั้น เป็นแม่กองสร้างในรัชกาลของพระองค์ และโปรดให้พระยาราชสงคราม เป็นนายช่างกระทำซ่อมแปลงภูเขา ก่อพระเจดีย์ขึ้นไว้บนยอด ครั้นในเดือน 6 ปีฉลู พุทธศักราช 2408 ได้เสด็จไปวางศิลาฤกษ์ ทำการซ่อมต่อมาจนตลอดรัชกาล โปรดให้เปลี่ยนนาม พระเจดีย์ภูเขาทองใหม่ว่า บรมบรรพต ตามนามบรมบรรพตที่เคยสร้างในท้องสนามหลวงครั้งนั้น การซ่อมบรมบรรพตยังค้าง มาทำสำเร็จในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในรัชกาลนี้โปรดให้ตัดถนนสระปทุมต่อจากถนนบำรุงเมือง ให้ทำสะพานมหาดไทยอุทิศ และถนนบริพัตรต่อจากถนนสระปทุมเข้ำไปถึงลานบรมบรรพตด้วยสายหนึ่ง ต่อมาเมื่อตัดถนนจักรพรรดิต่อถนนวรจักร โปรดให้ถมคลองหน้าวัดทำถนนและทำกำแพงวัด หน้าวัดออกถนนใหญ่ได้ในครั้งนั้น แล้วโปรดให้ทำสะพานข้ามคลองหลังวัด ต่อจากถนนสระปทุมเข้าไปในลานบรมบรรพตอีกสายหนึ่ง
คนทั้งหลายนิยมเรียก "บรมบรรพ" ว่า ภูเขาทอง แม้จะเป็นนามไม่ถูกต้อง แต่ก็เรียกกันจนชินติดปากมาเสียนานแล้วและยังมีคนบัญญัติชื่อเรียกว่า สุวรรณบรรพต ก็มี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ คงจะทรงรำคาญด้วยชื่อดังกล่าว ดังมีประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ดังต่อไปนี้
กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ รับพระราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า ภูเขาก่อด้วยอิฐ มีพระเจดีย์อยู่บนยอดอันตั้งอยู่ที่วัดสระเกศ ซึ่งชนเป็นอันมากเรียกว่า ภูเขาทองนั้นเดิมเป็นของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นด้วยทรงพระราชดำริห์จะทำเป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่ เพื่อจะให้มีชื่อเหมือนพระเจดีย์ภูเขาทองที่กรุงเก่า ทั้งรูปก็จะทำเช่นนั้นด้วย แต่จะใหญ่กว่า การนั้นไม่สำเร็จด้วยทรุดดินปูดขึ้นโดยรอบ จึงเป็นอันทิ้งค้างอยู่ คนก็คงเรียกพระเจดีย์ภูเขาทอง ตามนามซึ่งโปรดเกล้า ฯ พระราชทานไว้เมื่อแรกสร้าง แต่เพราะเหตุไม่เป็นรูปพระเจดีย์ มีแต่กองอิฐต้นไม้ขึ้นคลุมรก ตัววัดก็ไม่ได้ชื่อว่าวัดภูเขาทอง ชื่อวัดสะเกศอยู่ตามเดิมด้วย เพราะฉะนั้น ต่อมาคำต้นที่เรียกว่าพระเจดีย์นั้นจึงได้หายไปเหลืออยู่แต่ภูเขาทอง เพราะเป็นกองอิฐใหญ่แดงอยู่ ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีชวด ฉศก จุลศักราช 1226 มีงานพระเมรุบรมบรรพตที่ท้องสนามหลวง แล้วทรงพระราชดำริห์เริ่มสร้างพระเจดีย์บนยอดภูเขาทอง ครั้นถึงเดือน 6 ปีฉลู สัปตศก จุลศักราช 1227 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปก่อพระฤกษ์ แลโปรดเกล้า ฯ ให้มีละครข้างในเป็นการฉลองด้วยโปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนชื่อภูเขาทองว่า บรมบรรพต เหมือนอย่างเมรุบรมบรรพตที่เคยเรียกมาแล้ว คำบรมบรรพตยังใช้อยู่ มิได้โปรดให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง แต่บัดนี้มีผู้มักเรียกว่า สุวรรณบรรพต ซึ่งเป็นชื่อนึกแปลคำไทยเป็นภาษามคธสันสกฤตเอาเอง ไม่มีผู้แต่งในราชการโดยมากหน้าขึ้น เป็นการผิดจากนาม ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้ เพราะฉะนั้น จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า เจติยสถานที่นี้มิได้พระราชทานเปลี่ยนใหม่ว่า สุวรรณบรรพตเลย อย่าให้ผู้ใดเรียกและใช้ในหนังสือราชการให้คงใช้เรียก บรมบรรพต อันเป็นนามถูกต้องนั้นเทอญ ประกาศมา ณ วันที่ 24 พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก 118
การบูรณะปฏิสังขรณ์บรมบรรพต ต่อมาได้มีการบูรณะใหม่อีก 2 ครั้ง คือในระหว่าง พ.ศ.2493-2497 และพ.ศ.2509
2.พระวิหารพระอัฐฎฐารส เป็นพระวิหารหลังสูงใหญ่ หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบ มีช่อฟ้าใบระกา พระวิหารนี้เป็นที่ประดิษฐานพระอัฎฐารส
3.บริเวณพระอุโบสถ
4.โพธิ์ลังกา
5.หอไตร
6.พระตำหนัก
7.ตึกสมเด็จ
8.ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช

ที่มา :
โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบภูเขาทอง : ผลงานขั้นสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2550. หน้า 84-106.
วัดสระเกศ URL: http://www.watsrakesa.com/index.php