หน้าหลัก | พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี | มจธ.
สืบค้นข้อมูล

Title ตลาดสินค้าเฉพาะอย่าง : ในสมัยรัตนโกสินทร์
Object ตลาดในชีวิต ชีวิตในตลาด. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2549. หน้า 43-45. Call number HF5471.T4 ต 2549
Summary ตลาดขายสินค้าเฉพาะอย่างของไทยมีมานาน ซึ่งเน้นการประกอบอาชีพทางด้านการผลิตสินค้า หรืองานช่างต่างๆ ที่เป้นระบบอุตสาหกรรมในครอบครัว เกียรติ จิวะกุล กล่าวถึงลักษณะของการตั้งบ้านเรือนและแหล่งของการผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทนี้ไว้ว่า "บรรพบุรุษมีความสามารถชำนาญทางด้านใด ก็มักจะอบรมบุตรหลานให้มีฝีมือประกอบอาชีพแบบตนสืบทอดต่อกันเป็นตระกูล หากมีชื่อเสียงก็อาจมีผู้มาสมัครเป็นศิษย์เข้ามาอยู่ในแวดวงเดียวกัน ประกอบกับธรรมเนียมไทย ผู้เกี่ยวข้องเป็นเครือญาตินิยมตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้เคียงกัน ฉะนั้น ผู้ที่ประกอบอาชีพ แบบเดียวกัน จึงมักอยู่รวมกันเป็นชุมชนตามแหล่งต่างๆ มาตั้งแต่สมัยโบราณ เรียกว่า ย่าน หรือ ป่า"
ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีย่านที่เป็นชุมชนช่างฝีมือ ผลิตและจำหน่ายสินค้าจำพวกเครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ ดังตัวอย่าง เช่น บ้านพานถม ผลิตเครื่องถมจำพวกขันน้ำ พานรอง อยู่ข้างวัดสระเกศริมคลองรอบกรุง บ้านบาตร ผลิตบาตรพระ อยู่ถัดจากบ้านพานถมลงมา บ้านดอกไม้ ผลิตดอกไม้ไฟชนิดต่างๆ อยู่ริมคลองรอบกรุงในพระนคร หน้าวัดสระเกศ บ้านหม้อ ผลิตเครื่องปั้นดินเผา อยู่ริมคลองคูเมืองเดิม ใกล้ปากคลองตลาด บ้านดินสอ ผลิตดินสอพอง อยู่ใกล้โบสถ์พราหมณ์เสาชิงช้า บ้านบุ ผลิตขันน้ำ อยู่ในคลองบางกอกน้อย บ้านปูน ผลิตปูนแดงกินกับหมาก อยู่ในเขตบางยี่ขัน บ้านช่างหล่อ หล่อพระพุทธรูป ระฆัง เครื่องทองเหลือง อยู่ฝั่งธนบุรี หลังวัดระฆัง ย่านตีทอง ผลิตทองคำเปลว อยู่ข้างวัดสุทัศน์ เป็นต้น ปัจจุบันย่านตลาดในลักษณะนี้หลายแห่งเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ผลิตอย่างเดรยว เช่น บ้านบุ บ้านดอกไม้ บางแห่งเลิกผลิตไปแล้ว เช่น บ้านดินสอ บ้านพานถม บางแห่งปรับตัวเป็นย่านการค้ารูปแบบอื่น เช่น บ้านหม้อ ปัจจุบันเป็นย่านขายเครื่องเสียง และเครื่องประดับยนต์ หรือ ย่านตีทอง แถววัดสุทัศน์ กลายเป็นย่านขายสังฆภัณฑ์ เป็นต้น
ที่มา : ตลาดในชีวิต ชีวิตในตลาด. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2549. หน้า 43-45.