หน้าหลัก | พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี | มจธ.
สืบค้นข้อมูล

Title อิทธิพลของศิลปะตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 4
Object วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. ศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : ต้นอ้อ, 2542. หน้า 36-38. Call number N6350 ว-ศ 2542
Summary ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (พ.ศ.2394-2411 ราว ค.ศ.1851-1868) อิทธิพลของศิลปะตะวันตกเริ่มปรากฎชัดเจนขึ้น ดังจะเห็นได้จากพระราชวังและพระที่นั่ง หลายแห่งที่โปรดให้สร้างขึ้นเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ เช่น พระนครคีรี อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี พระที่นั่งวโรภาษพิมานในพระราชวังบางปะอิน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และที่สำคัญคือผลงานจิตกรรมของขรัวอินโข่ง ซึ่งเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงรูปแบบจิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์วิหารที่เคยเขียนตามแบบประเพณี นิยมมาเป็นแบบสัจนิยมอย่างตะวันตก โดยวาดภาพให้มีปริมาตร (Volume) มีแสงและเงา มีทัศนียวิทยา (Perspective)แบบศิลปะตะวันตก เช่น จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพ จิตรกรรมวัดมหาสมณาราม หรือวัดเขาวัง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว (2550 : 170-181)กล่าวถึงภาพเขียนสีฝุ่นเรื่องทศชาติ ผลงานของขรัวอินโข่ง ที่เพิ่มเติมวิธีเขียนภาพให้มีทัศนียวิทยวิสัยแบบสามมิติ (Tree-Dimension)ปัจจุบันภาพเขียนชิ้นนี้เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป กรุงเทพฯ
ขรัวอินโข่ง เป็นจิตรกรภาพเหมือน (Portrait) ไทยคนแรก โดยวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามแบบศิลปะตะวันตก ปัจจุบันภาพนี้อยู่ที่หอศิลป์แห่งชาติ ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ (ปัจจุบันมีผู้ทักท้วงว่าเป็นฝีมือของจิตรกร ชาวตะวันตกชื่อ E. Peyze-Ferry, อภินันท์ โปษยานนท์. จิตรกรรมและประติมากรรมตะวันตกในราชสำนัก เล่ม 1, 2535 หน้า 40)

ที่มา:
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. ศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : ต้นอ้อ, 2542. หน้า 36-38.
นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว. "บทบาททางสังคมของศิลปกรรมชาดกก่อนสยามเปิดประเทศรับอิทธิพลตะวันตก," ใน ประวัติศาสตร์ศิลปะที่ต้องจารึก. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2550. หน้า 170-181.