หน้าหลัก | พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี | มจธ.
สืบค้นข้อมูล

Title ทุ่งพระเมรุก่อนเป็นสนามหลวง
Object "ทุ่งพระเมรุก่อนเป็นสนามหลวง," พระเมรุ : ทำไม? มาจากไหน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551. หน้า 153-173. Call number NA7435.A1 พ 2551
Summary เรื่องทุ่งพระเมรุนี้ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง "พระเมรุ : ทำไม? มาจากไหน" ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องในรัชกาลที่ 4 ไว้ว่า ... ทุ่งพระเมรุ ก่อนเป็น “สนามหลวง” ใช้สร้างพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระศพเจ้านายชั้นสูง สนามหลวงมีมาแต่แรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 1 อยู่ระหว่างพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) กับพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ซึ่งเป็นบริเวณที่โล่งจัดให้มีขึ้นอย่างสนามหน้าจักรวรรดิของพระนครศรีอยุธยา ใช้เป็นที่สร้างพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ชั้นสูง คนทั่วไปจึงเรียกว่า “ทุ่งพระเมรุ” ถ้าไม่มีงานพระเมรุก็ปล่อยเป็นที่รกร้างว่างเปล่าราวหนองบึงที่ชุมนุมของสัตว์เลื้อยคลาน เป็นอาหารของไพร่บ้านพลเมืองที่ถูกเกณฑ์

บริเวณทุ่งพระเมรุนี้เคยใช้เป็นที่ทำนาของหลวงตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมารัชกาลที่ 4 โปรดให้ใช้สนามหลวงเป็นที่ทำนาหลวงเหมือนอย่างในรัชกาลที่ 3 ตามเดิม แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรังเกียจที่ราษฏรเรียกสนามหลวงว่า “ทุ่งพระเมรุ” พระองค์จึงโปรดให้มีการเรียกว่า “ท้องสนามหลวง” ตามประกาศ ดังนี้

“ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนานๆ มีครั้งหนึ่งแลเป็นการอวมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า “ทุ่งพระเมรุ” นั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไป ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้นให้เรียกว่า “ท้องสนามหลวง” ถ้าผู้ที่ยังไม่ได้รู้หมายประกาศนี้ หรือได้รู้แล้ว แต่หลงลืมไป ยังเรียกว่าทุ่งพระเมรุอยู่ตามเคยเรียกมาแต่ก่อน ถ้ากรมพระตำรวจหรือกรมพระนครบาลผู้หนึ่งผู้ใดจับกุมผู้ที่เรียกพลั้งเรียกผิดนั้นมาปรับไหมเอาเงินทอง ก็ให้ผู้ต้องจับนั้นมาร้องฟ้องตามกระทรวง ถ้าชำระได้ความจริงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ไหมผู้จับทวีคูณให้แก่ผู้ต้องจับนั้น

ในรัชกาลนี้ปรากฏว่าพลับพลาทอดพระเนตรการทำนาที่ท้องสนามหลวงมีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีหอพระสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปในพระราชพิธีพืชมงคล มีหอสำหรับดักลม มีโรงละครสำหรับเล่นบวงสรวง และบนกำแพงแก้วมีพลับพลาโถงสำหรับทอดพระเนตรการทำนาส่วนนอกกำแพงแก้วมียุ้งมีฉางไว้สำหรับใส่ข้าวหลวงที่ได้จากการปลูกข้าวเรียงเป็นลำดับ

อนึ่ง สนามหลวง เป็นสนามเล่นว่าวมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 แล้วด้วย ดังจะเห็นได้จากในประกาศให้คนเล่นว่าวระวังสายป่าน ซึ่งประกาศเมื่อวันจันทร์ เดือน 5 ขึ้น 2 ค่ำ ปีเถาะสัปตศกจุลศักราช 1217 ว่า “พระยาเพ็ชปาณีรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า ให้นายอำเภอป่าวร้องประกาศข้าราชการแลราษฎรที่เป็นนักเลงเล่นว่าว เอาว่าวขึ้นก็เล่นแต่ตามท้องสนามหลวงแถบที่ว่างเปล่าไม่ห้ามปรามดอกให้เล่นเถิด แต่อย่าให้สายป่านว่าวไปถูกเกี่ยวข้องพระมหาปราสาท พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ช่อฟ้าใบระกา พระมหามนเทียร พระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง พระบวชมหาราชวัง และช่อฟ้าใบระกา วัดวาอารามให้หักพังได้ ถ้าผู้ใดชักว่าวไม่ระวังให้สายป่านพาดไปถูกต้องของหลวงแลวัดวาอารามให้หักพังยับเยินสืบไป จะเอาตัวเจ้าของว่าวเป็นโทษตามรับสั่ง”

เนื่องจากการเล่นว่าวที่ท้องสนามหลวงไม่ปลอดภัยพอเพราะเล่นดีไม่ดีสายป่านว่าวเกิดไปต้องพระมหาปราสาทราชวังทั้งพระบวรราชวังเข้า ก็จะต้องเป็นโทษดังกล่าว ด้วยเหตุนี้นักเลงว่าวชาวบ้านจึงได้พากันมาเล่นที่สนามฆ่าคน คือบริเวณที่เป็นห้าแยกพลับพลาไชยในปัจจุบันเป็นส่วนใหญ่ นอกจากเจ้านายและข้าราชการเท่านั้นที่ยังคงทรงเล่นและเล่นอยู่ที่ท้องสนามหลวงตามเดิม

สำหรับเรื่องการพระเมรุนี้ มีเรื่องที่สมควรจะกล่าว ซึ่งค้นหลักฐานมาได้จากเรื่องประเพณีเกี่ยวกับโสกันต์แลพระเมรุท้องสนามหลวง ในหนังสือประชุมพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4 ฯลฯอยู่ 2 เรื่อง คือ เรื่องแรกเป็นเรื่องระหว่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับเรื่องถวายพระเพลิงศพกรมสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 4 จากข้อความในพระราชหัตถเลขาถึงกรมหมื่นบวรวิไชยชาญเมื่อปีกุน พ.ศ. 2406 กล่าวว่า

“เมื่อการศพแม่เพอย ข้าพเจ้าไปปลูกเมรุรุกขึ้นไปใกล้วังน่านัก จนไม่มีท้องสนามพลับพลาพระบวรราชวัง ไม่มีที่ตั้งพลับพลา ไม่มีที่ประทับ จึงต้องบอกประชวรเสียทั้งงาน เป็นแต่ให้ลูกเต้าท่านแลข้าราชการมาช่วย การที่เป็นดังนี้เขายกโทษว่าข้าพเจ้าไม่คิดอ่านจัดการให้เป็นพระเกรียรติยศสมควร ท่านจึงเสด็จไม่ได้...”

เรื่องนี้พระองค์ทรงให้เหตุผลว่า “...เมื่อการศพแม่โสมนัศ (สมเด็จพระนางโสมนัศ) แลแม่เพอยทั้งสองครั้งนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าแม่โสมนัศ แลแม่เพอยเปนแต่เจ้าเล็กน้อยแปลงมาเปนพระองค์เจ้าแลเมื่อตายลงได้ทำศพที่ท้องสนามหลวงเพราะเปนเมียข้าพเจ้าๆ เปนเจ้าภาพผู้เดียวทำการงานมากไปเพราะถูกฝรั่งอังกฤษยกยอว่าเป็นกวินๆ แม่โสมนัศ แม่เพอยเป็นผู้หญิงสาวมีผัว คือข้าพเจ้าเปนเจ้าภาพผู้เดียว จึงควรไม่เปนอย่างพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวสามพระองค์ที่ล่วงแล้ว ซึ่งเปนเจ้าใหญ่นายโตที่นับถือกลางวังหลวงวังน่าด้วยกัน การพระศพเช่นนั้นควรมีพลับพลา มีสนามมวย สนามม้าสองด้าน สองน่าก็การศพแม่โสมนัสแม่เพอยนั้น ถึงทำมากก็เปนการของข้าพเจ้าฝ่ายเดียวจึงควรจะงาม คิดดูเถิด”

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องลือกันว่าในวันงานพระเมรุจะมีการชิงราชสมบัติ ทำนองสมัยนี้ที่ลือกันว่า จะมีการปฏิวัติรัฐประหารนั่นแหละ ดังจะทราบได้จากพระราชนิพนธ์เรื่องเดียวกันนี้ว่า “อนึ่ง เพราะปากราษฎรฤาเล่ากันแต่ก่อนการพระศพ การศพที่ท้องสนามหลวงทุกๆงาน ตั้งแต่แผ่นดินก่อนๆ มาจนแผ่นดินปัจจุบันนี้ว่า วันชักเขาจะเอาวันเผาจะเล่นนั้นได้ช่วงได้โอกาส ก็การที่ว่านี้เป็นแต่ว่ากันนั้นแล แต่รำพึงไปถึงการหลังๆ มา การศพที่ท้องสนามหลวงก็เคยมีมาหลายครั้ง นับครั้งดูก็เห็นประจักษ์ว่า การที่มีแต่สนามเดียวนั้นมากกว่าสองสนาม

แลการแต่โบราณกรุงเก่าสืบมา ในการศพทุกครั้ง คำที่ฤากันว่า วันชักเขาจะเอาวันเผาเขาจะเล่นดังนี้มีแทบทุกงาน แต่เมื่องานมีขึ้นก็ไม่มีใครเอาใครเล่นสักงานหนึ่งเลย ครั้งแผ่นดินเจ้าตากสินก็มีการศพหลายครั้ง ที่ท้องนาทเลตมบ้าง ที่วัดบางยี่เรือบ้าง เจ้าตากก็มีแต่ตัวไม่ได้มีสองสนามเลย เจ้าตากนั้นขุนนางแลราษฎรก็ชังมากกว่าข้าพเจ้าสัก 100 เท่า ถึงกระนั้นในการศพเหล่านั้น วันชักก็ไม่มีใครเอา วันเผาก็ไม่มีใครเล่น พระยาสวรรค์มาเอามาเล่นเจ้าตากเมื่อเวลาตะแก่นอนอยู่ในวังไม่มีการศพเมรุอะไรไม่ใช่ฤาฯ...”


ที่มา :
"ทุ่งพระเมรุก่อนเป็นสนามหลวง," พระเมรุ : ทำไม? มาจากไหน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551. หน้า 153-173.