หน้าหลัก | พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี | มจธ.
สืบค้นข้อมูล

Title เครื่องทองกรุงศรีอยุธยา
Object ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์. เครื่องทองกรุงศรีอยุธยา. พิมพ์ครั้งที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2548. Call number NK7106 ป-ค 2548
Summary ทอง หรือทองคำ เป็นธาตุชนิดหนึ่งเป็นโลหะลักษณะเป็นของแข็ง มีสีเหลืองเป็นที่สังเกตเห็นได้ง่าย หลอมละลายที่ 1063 องศาเซลเซียส เนื้ออ่อนสามารถตีบุให้เป็นแผ่นบางจนมีความหนา 0.0001 มิลลิเมตร ได้เหมือนอย่างทองคำเปลว ทองเป็นโลหะที่นิยมนำมาทำเป็น เครื่องประดับตกแต่งมากชนิดหนึ่งโดยวิธีการต่างๆ ได้แก่ การหุ้ม การปิด การบุ การดุน การหล่อ การสลัก กะไหล่ หรือกาไหล่ การคร่ำ
จากเอกสารการบันทึกทางประวัติศาสตร์มีการพบหลักฐานการนำทองคำมาทำเป็นพระพุทธรูปมาพันปี ที่วัดจอมทอง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช และในยุคต่อมาคือสมัยศรีวิชัย สมัยลพบุรี สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา ในสมัยนี้มีการใช้ทองคำมากเป็นพิเศษ โดยทองที่นำมาใช้น่าจะมาจากแหล่งต่างๆ คือ การส่งส่วยและภาษีอากร, การเกณฑ์โดยวิธีพิเศษ เช่น ขอบริจาค บอกบุญ เรี่ยไร เป็นต้น, การค้าขายแลกเปลี่ยน, ราชบรรณาการ, พัทธยา (หรือทรัพย์สมบัติที่ริบมาจากเอกชนเป็นของหลวง หรือจากศึกสงคราม) บันทึกจากเอกสารชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาบันทึกตรงกันว่า มีทองคำมาก
พุทธศักราช 2310 เมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าตีแตก "...พม่าได้พระราชทรัพย์ในท้องพระคลังและสิ่งของทองเงินต่างๆ ไปมาก การรวบรวมทรัพย์ทั้งขุดทั้งเผาเอาสมบัติไปไว้ทุกทัพทุกค่าย ใช้เวลาถึง 10 วัน ในจดหมายเหตุ ชาวต่างประเทศบอกว่า มีเศษทองหล่นเกลื่อนกลาดไปหมดตามถนนหนทางทั้งกรุงศรีอยุธยา ... ความจริงก่อนหน้าที่กรุงจะแตก กองทัพจีนซึ่งตั้งค่ายรบพม่า ณ คลองสวนพลู ประมาณ 300 คน ขึ้นไปทำลายมณฑปพระพุทธบาท เลิกเอาแผ่นเงินที่คาดพื้น และทอง คำซึ่งแผ่หุ้มพระมณฑปไปสิ้น..." ครั้นเสียกรุงสภาพเศรษฐกิจตกต่ำมีราษฎรบางพวกแสวงหารายได้โดยการขุดสมบัติในเขตกรุงเก่าและตามวัดร้าง โดยมีชาวจีนรับซื้อ จนได้มีการตัดชิ้นส่วนพระพุทธรูปและศาสนวัตถุสำริดบรรทุกสำเภาส่งไปจำหน่ายที่เมืองจีน
ครั้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คนติดกัญชายาฝิ่น และการพนันเพิ่มมากขึ้น ทำให้การขุดค้นเพิ่มมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ทรงเห็นว่าถ้าหากไม่หาทางป้องกันก็นับวันจะยิ่งระบาดมากขึ้นแม้วัดที่มีพระสงฆ์อยู่ก็ไม่ละเว้น จึงได้มีพระราชบัญญัติเป็น หมายประกาศเขตรังวัด ผู้ร้ายขุดวัด พ.ศ.2397 ขึ้น ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบวัด หรือในแต่ละชุมชนนั้นช่วยกันดูแลรักษาศาสนสถานของตนเอง โดยทรงเห็นว่า "โบราณวัตถุสถานที่ก่อด้วยอิฐ ปูน ศิลา โดยใหญ่ก็ดีเล็กก็ดี ถึงจะคร่ำคร่าชำรุดทรุดโทรมไปแล้ว ก็ยังเป็นเครื่องประดับพระนครอยู่ " ส่วนการกำหนดคุณภาพของทองคำ มีการกำหนดค่าตามเนื้อทอง คือ มีตั้งแต่เนื้อสี่ถึงเนื้อเก้า โดยตั้งพิกัดราคา (ทอง) ตามเนื้อทอง ตามประกาศของรัชกาลที่ 4 เช่น
ทองเนื้อหก คือ ทองหนัก 1 บาท ราคา 6 บาท
ทองเนื้อเก้า คือ ทองหนัก 1 บาท ราคา 9 บาท
ทองเนื้อเก้า เป็นทองแท้ ทองบริสุทธิ์ มีชื่อเรียกต่างๆ กัน ดังนี้ ทองธรรมชาติ, ทองชมพูนุท (สีเหลืองเข้มออกแดง), ทองเนื้อแท้ หรือ ทองคำเลียง (หมายถึง ทองคำเนื้อบริสุทธิ์ปราศจากธาตุอื่นเจือปนตรงกับคำที่ใช้ในภาษาเหนือว่า "คำขา" ก็มี)
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กำหนดค่าอัตราการแลกเปลี่ยนทอง (เหรียญทองกษาปณ์) ไว้ดังนี้
ทองทศ มีค่าเท่ากับ 1 ใน 10 ของชั่ง หรือเท่ากับ 8 บาท (1 ชั่ง เท่ากับ 80 บาท)
ทองพิศ มีค่าเท่ากับ 1 ใน 20 ของชั่ง หรือเท่ากับ 4 บาท (1 ชั่ง เท่ากับ 80 บาท)
ทองพัดดึงส์ มีค่าเท่ากับ 1 ใน 32 ของชั่ง หรือเท่ากับ 2.50 บาท

ที่มา :
ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์. เครื่องทองกรุงศรีอยุธยา. พิมพ์ครั้งที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2548.