หน้าหลัก | พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี | มจธ.
สืบค้นข้อมูล

Title ปาวีผู้กลืนลำน้ำโขง
Object ปาวีผู้กลืนลำน้ำโขง Call number DS571 น-ป 2531
Summary หนังสือเกี่ยวกับกรณีพิพิาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี พ.ศ.2399 และการเข้าครอบครองเวียดนาม เขมร และลาวเป็นอาณานิคม รวมถึงความพยายามยึดดินแดนบางส่วนของไทย โดยในช่วงแผ่นดินรัชกาลที่ 1-3 (พ.ศ.2325-2394) เป็นช่วงเวลาเดียวกับประเทศทางยุโรปมีการแก่งแย่งกันระหว่างราชวงศ์ของประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรีย ปรัสเซีย (เยอรมัน) พร้อมทั้งเกิด เหตุการณ์สำคัญในการปฎิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมโลก ขณะเดียวกันภายในประเทศฝรั่งเศสต้องเผชิญศึกภายนอก และศึกภายในมีการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 มาเป็นนโปเลียน โบนาปาร์ท, การทำสงครามระหว่างฝรั่งเศส (นโปเลียนที่ 3) กับปรัสเซีย ซึ่งภายหลังฝรั่งเศสพ่ายแพ้ (เหตุการณ์ในช่วงนี้ตรงกับประเทศไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศอังกฤษเริ่มเข้ามามีบทบาทในพม่า)
ในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 ประเทศมหาอำนาจได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศแถบเอเชีย คือ พม่า มาลายู กัมพูชา เวียดนาม สำหรับประเทศไทยในขณะนั้นฝรั่งหลายชาติได้พยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์กับไทย แต่ระยะนั้นนโยบายของไทยยังไม่เปิดกว้างรับฝรั่ง แต่ก็ให้การรับรองพอควร หลังจากที่อังกฤษได้ส่งเซอร์จอห์น เบาริง ผู้เป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มเดินทางเข้ามาทำสนธิสัญญาเบาริงแล้ว ประเทศอเมริกานับเป็นประเทศที่ 2 ที่เข้ามาทำสนธิสัญญากับไทย
ในปี พ.ศ.2399 เมื่อฝรั่งเศสเข้าร่วมกับอังกฤษช่วยตุรกีรบกับรัสเซียชนะจึงเกิดความคิดที่จะหาดินแดนที่เมืองขึ้น จึงเริ่มแผ่อิทธิพลมายังเวียดนาม เมื่อพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ทราบว่า อังกฤษได้ทำสนธิสัญญากับไทย จึงส่ง เมอร์สิเออร์ ชาลส์ เดอ มองติญยี (M. Charls De Mongtigny) มาเจริญสัมพันธไมตรี ตามจดหมายเหตุทางราชการไทยบันทึกไว้ ดังนี้
"มองตีงี ทูตฝรั่งเศสเข้ามาทำหนังสือกับกรุงเทพฯ มากำปั่นไฟ 2 ลำ กำปั่นรบ 1 ลำ เป็น 3 ลำ ถึงสันดอน ณ วันอาทิตย์ เดือน 8 ขึ้น 4 ค่ำ..." ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีหมายรับสั่งเรื่อง ต้อนรับทูตฝรั่งเศส ฉบับที่ 1 เรื่อง เตรียมการเสด็จออกรับมองติคนี ราชทูต จากเอกสารดังกล่าว ทำให้ทราบถึงพระสติปัญญาของพระองค์ที่ทรงเรียนรู้จาก การศึกษาและสมาคมกับชาวยุโรปและอเมริกันในฐานะนักศึกษาผู้ยิ่งใหญ่ จึงได้เปลี่ยนนโยบายและแนวความคิดบางอย่างที่ล้าหลังทำให้ชาติมหาอำนาจไม่อาจใช้กำลังกับไทยเหมือนกับที่ปฏิบัติต่อชาติอื่น นอกจากเครื่องราชบรรณาการที่มองติญยีนำเข้ามาถวายแล้วยังมีพระบรมฉายาลักษณ์สีน้ำมันของพระเจ้านโปเลียนที่ 3 เข้ามาถวายด้วย
เมื่อฝรั่งเศสได้ทำสนธิสัญญากับไทยแล้ว ได้มีความพยายามในการขยายอาณานิคมเพื่อยึดครองกลุ่มประเทศอินโดจีน (เวียดนาม เขมร และลาว) เป็นลำดับ รวมถึงไทยต้องเสียดินแดนบางส่วนของไทย คือ เสียมราช พระตะบอง ให้ฝรั่งเศส ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อสงวนดินแดนส่วนใหญ่ไว้
จากบันทึกของหมอบลัดเลย์ ได้บ้นทึกไว้ว่า เมอซีเออเฮอเตีย เข้ามาเมืองไทยเป็นคนแรกโดยทำหน้าที่รักษาการกงสุล และต่อมาเมอซีเออยูลส์นล กงสุลตัวจริงได้เดินทางเข้ามาในภายหลัง จากการตรวจสอบหลักฐานของ นายหนหวยพบว่าขัดกับเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศที่บันทึกไว้ว่า "กงสุลฝรั่งเสศคนแรกประจำกรุงเทพฯ ชื่อ คองต์เดอ คาสเตลโน (COMT DE CASTELNAU) เข้ามาเมื่อปี 2401 บุคคลผู้นี้มีบทบาทสำคัญในการ ฮุบเมืองเขมรไปจากไทย.. (หน้า 51-52)"
การทำสนธิสัญญาของไทยกับประเทศยุโรปในครั้งนั้น เป็นที่ทราบกันอยู่ว่าฝ่ายไทยเสียเปรียบ คือ ฝรั่งมีสิทธิตั้งศาลกงสุลของตนขึ้น สำหรับพิจารณาคดีคนของตน คือ ฝรั่งและคนในบังคับไม่ยอมรับกฎหมาย ของไทย ไม่ยอมขึ้นศาลไทย โดยอ้างว่ากฎหมายไทยไม่ทันสมัย และเรื่องผลประโยชน์ด้านภาษีอากร ไทยมีอำนาจเก็บภาษีขาเข้าจากฝรั่งได้ในอัตราร้อยละสาม ไม่ว่าจะเป็นสิ้นค้าประเภทไหนและจำนวนมากน้อยเพียงไร รายได้จากการค้าระหว่างประเทศที่ไม่เป็นธรรมนี้ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศอย่างยิ่งข้อเสียเปรียบทั้งหมดนี้ไทยรู้ดีมาแต่แรก แต่ก็จำต้องลงนามในสัญญาอย่างไม่มีทางเลือกมิฉะนั้นอาจถูกบังคับด้วยกำลังทหาร เมื่อ แพ้สงครามเรื่องก็จะแปรไปอีกรูปหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงมีความหวังในพระทัยว่า คนไทยรุ่นหลังเมื่อความรู้ความสามารถทัดเทียมฝรั่งแล้วก็คงจะแก้ไขผ่อนปรนได้ ดังตัวอย่างของประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีปรากฎอยู่

ที่มา :
นายหนหวย. ปาวีผู้กลืนลำน้ำโขง. กรุงเทพฯ : ป.สัมพันธ์พาณิชย์, 2531. 9748680479