หน้าหลัก | พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี | มจธ.
สืบค้นข้อมูล

Title ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา
Object Call number
Summary ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา สร้างขึ้นด้วยความร่วมมือร่วมใจของกรุงเทพมหานคร ร่วมกับประชาคมไทยจีน เพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 ซุ้มประตูจีนโบราณที่งามสง่าจึงตระหง่านขึ้นกลางวงเวียนโอเดียน เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสอันสำคัญยิ่ง

เหตุผลที่สร้างซุ้มประตู “เฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา” ไว้ตรงวงเวียนโอเดียน เนื่องจากเขตสัมพันธวงศ์เป็นเขตที่มีขนาดเล็กที่สุดของ กทม. คือ มีพื้นที่ 1.42 ตารางกิโลเมตร แต่เป็นเขตที่มีประชากรชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดในประเทศไทย เกือบจะมากที่สุดในโลก หากไม่นับรวมฮ่องกงและไต้หวัน การตั้งถิ่นฐานของชาวจีนในประเทศไทย นับได้ว่าเก่าแก่ที่สุดในโลก พื้นที่บริเวณนี้นับเป็นย่านธุรกิจการค้าและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่รู้จักกันทั่วโลกในนาม “ไชน่าทาวน์” (China town) และที่สำคัญ ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้จึงเป็นศูนย์รวมของมงคลต่าง ๆ ทั้ง 9 ประการ ดังนี้

1. สร้างขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสพระชนมมายุครบ 6 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ องค์ปัจจุบัน ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542
2. ตราสัญลักษณ์ในพระราชพิธีมหามงคลได้ถูกอัญเชิญ ไว้บนยอดหลังคาซุ้มประตูมี มังกรทอง 2 ตัว เทิดพระปรมาภิไธย ย่อ ภ.ป.ร. ซึ่งอยู่กลางสัญลักษณ์ดังกล่าวจัดสร้างขึ้นด้วยทองคำหนัก 99 บาท ซึ่งผ่านพิธีพุทธาภิเษกที่วัดไตรมิตรวิทยาราม (มังกรเป็นสัตว์แห่งเทพ เป็นสัญลักษณ์ของฮ่องเต้หรือพระจักรพรรดิ ตามความเชื่อของชาวจีนมังกรเป็นเทพสัตว์ที่มีอิทธิฤทธิ์มากและยังสามารถบันดาลให้ฝนตกได้ด้วย คล้ายพญานาคของไทย มังกรเป็นเทพสัตว์วิเศษแห่งสวรรค์ ซึ่งรวมลักษณะของสัตว์ถึง 9 ชนิดเข้าไว้ด้วยกัน คือ มีเขาเหมือนเขากวาง มีหัวเหมือนหัวอูฐ มีตาเหมือนตากุ้ง มีลำตัวเหมือนงู มีท้องเหมือนหอย มีเกล็ดเหมือนปลา มีกรงเล็บเหมือนกรงเล็บนกอินทรีย์ มีอุ้งเท้าเหมือนอุ้งเท้าเสือ และมีหูเหมือนหูวัว มังกรเป็นเทพคุ้มครองบรรบุรุษจีน ในทางสากลมังกรเป็นสัญลักษณ์ของชาวจีนหรือประเทศจีนด้วย ดังนั้นมังกร 2 ตัว ที่ชูตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ บนยอดหลังคาซุ้มประตู จึงมีความหมายว่า ชาวไทยเชื้อสายจีนเทิดทูนองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ไว้เหนือเกล้าฯ)
3. ใต้หลังคาซุ้มประตูบริเวณหน้าบัน เป็นแผ่นป้ายหินแกรนิตคัดพิเศษสีแดงทับทิมจากอินเดีย จารึกนามซุ้มประตูภาษาไทย ประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา ซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2542
4. ใต้หลังคาซุ้มประตูอีกด้านหนึ่งจารึกลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นอักษรจีน 4 ตัว ออกเสียงตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า เซีย สิ่ว บ่อเกียง (หรือสำเนียงจีนกลางว่า เซิ่ง โซ่ว อู๋ เจียง) มีความหมายว่า ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน หรือ ทีฆายุโกโหตุ มหาราชา พร้อมทั้งลงพระนามาภิไธย สิรินทร และลงวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1999 เป็นอักษรจีน แสดงถึงพระอัจฉริยภาพทางอักษรศาสตร์
5. บริเวณแกนกลางของซุ้มประตู (มีต้นเสากลมทั้งหมด 4 เสา) ซึ่งถือว่าเป็นจุดรวมพลังจากสวรรค์และแผ่นดินตามหลักฮวงจุ้ยถือว่าเป็นบริเวณที่ให้พลัง (ขี่) ที่สุดยอดก่อให้เกิดความสมดุลแก่ชีวิต ทำให้มีความสุขและได้โชคลาภเพิ่มพูนขึ้น แหงนมองดูบนฝ้าเพดานมีจารึกเป็นแผ่นทองเหลือง รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 45 X 45 ซม. เป็นอักษรจีนคำว่า เทียน หมายถึง สวรรค์ อยู่ภายในวงกลมและมุมทั้ง 4 ของแผ่นทองเหลืองเป็นรูปค้างคาว เรียกตามสำเนียง แต้จิ๋วว่าฮก (สำเนียงจีนกลางว่า ฟู่) แปลว่า โชคลาภ นั่นหมายถึง พลังแห่งสวรรค์ จะเกื้อหนุนให้บังเกิดโชคลาภเพิ่มพูน แผ่นทองเหลือง เทียน นี้ได้ทำพิธีพุทธาภิเษกที่วัดไตรมิตรวิทยาราม พร้อมกับพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร.
6. ที่พื้นบริเวณแกนกลางในแนวดิ่งตรงกับแผ่นทองเหลือง เทียน ซึ่งอยู่บนเพดานมีอักษรจีน ตี้ หมายถึง ดิน หรือ แผ่นดิน อยู่ภายในวงกลมและมุมทั้ง 4 เป็นรูปต้นไผ่ เรียกตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า เต็ก ซึ่งตรงกับสำนวนจีนที่มีความหมายว่า คุณธรรม ต้นไผ่ตามคติความเชื่อของชาวจีนหมายถึงแผ่นดินนี้ปราศจากความทุกข์ยากมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองร่มเย็นและมีแต่คุณธรรม แผ่นทองเหลือง ตี๋ ได้ทำพิธีพุทธาภิเษกที่วัดไตรมิตรวิทยาราม คราวเดียวกับพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร.
7. น้ำพุ ขนาดใหญ่ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นตำแหน่ง หงส์แดง ตามหลักฮวงจุ้ย หมายถึงความอุดมสมบูรณ์เพิ่มพูนขึ้นด้วยโชคลาภ ประดุจสายน้ำที่พวยพุ่งขึ้นสู่เบื้องบน
8. ด้านหลังซุ้มประตูฯ ตามหลักจะต้องเป็นกำแพงตั้งอยู่ในตำแหน่งเต่าดำตามหลักฮวงจุ้ย แต่เนื่องจากซุ้มประตูนี้อยู่ในบริเวณวงเวียน หากเป็นกำแพงทึบก็จะบดบังทัศนวิสัยการจราจร จึงเลี่ยงเป็นแท่นหินแกรนิต จำนวน 9 แท่น ซึ่งได้จารึกประวัติการสร้าง รวมทั้งประวัติศาสตร์และเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับชุมชนชาวจีนที่สำเพ็ง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงประวัติความเป็นมาของการตั้งถิ่นฐานของชาวจีนที่อพยพมาเมืองไทยและความสำคัญของซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ โดยแท่นหินทั้ง 9 แท่นตั้งอยู่บนตำแหน่งเต่าดำตามหลักฮวงจุ้ย อันหมายถึงความมั่นคงแข็งแกร่งตลอดไป
9. เป็นฤกษ์ดีเมื่อ ฯ พณฯ ประธานาธิบดี เจียง เจ๋อ หมิง ประมุขสูงสุดของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 2 – 6 กันยายน พ.ศ. 2542 ท่านเจียง เจ๋อ หมิง ได้มาเยือนถิ่นชุมชนชาวจีนในเขตสัมพันธวงศ์พร้อมกับได้โปรยข้าวตอกดอกไม้แห้งไว้เป็นสิริมงคลแก่สถานที่ก่อสร้างซุ้มประตูฯ นี้ด้วย เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสพระชนมายุครบ 6 รอบขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของปวงชนชาวไทยและเป็นการแสดงสัมพันธไมตรีอันแน่นแฟ้นระหว่างไทยกับจีน ทั้งทางเชื้อชาติ วัฒนธรรมและทางการค้า นับเป็นซุ้มประตูจีนแห่งเดียวในโลกที่มีประมุขจีนมาร่วมกิจกรรม ดังนั้น ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา จึงเป็นซุ้ม 9 มหามงคล อย่างแท้จริง ทั้งในแง่ของพิธีกรรมและหลักวิชาฮวงจุ้ย

ที่มา :
จารุณี ฐานรตาภรณ์ , “ถนนเยาวราชกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์”, วารสารศาลยุติธรรมปริทัศน์. ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 : ธันวาคม 2551 – มกราคม 2552 : หน้า 74 - 97