หน้าหลัก | พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี | มจธ.
สืบค้นข้อมูล

Title เรื่องของวัดโพธิ์ ท่าเตียน จากนิทานหลอกเด็กถึงพระราชหัตถเลขา
Object Call number
Summary จากอู่เก็บเรือกลายเป็นวัง เกิดไฟไหม้กลายเป็นท่าเตียน

คราวนี้มาเล่ากันเรื่องจริงตามประวัติศาสตร์ดีกว่า ผมเคยอ่านพงศาวดารเก่าแก่ได้พบว่า บริเวณท่าเตียนในสมัย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ท่านโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นอู่เก็บเรือยาวเหยียดมิได้มีบ้านเรือน หรือเรือนแพอยู่เลย มีแต่ค่ายพักทหาร ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาเรือเท่านั้น เรือที่ว่าเข้าใจว่าน่าจะเป็นเรือพระที่นั่งทรง เรือรบ เรือดั้ง เรือ แซง เรือลำเลียงพลจำพวกนี้
ครั้นเมื่อผลัดแผ่นดินใหม่ ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายอู่เก็บเรือทั้งหมดขึ้นไปไว้ในเขตเมืองนนทบุรีแถวตลาดขวัญ บางกรวยโน่น แล้วพระราชทานที่ดินอันเป็นบริเวณที่ตั้งของตลาดท่าเตียนให้แก่ พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ สร้างเป็นวังที่ประทับ
เสด็จในกรมขุนอิศรานุรักษ์ ได้ประทับอยู่จนถึงรัชกาลที่ 3 จึงเสด็จข้ามฟากไปประทับวังใหม่ทางฝั่งธนบุรี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ประทับของกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จในกรมฯ ประทับอยู่ ณ วังนี้จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ชีพแล้วก็ไม่ปรากฏว่าเจ้านายพระองค์ใดมาประทับต่อ จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ก็ได้เกิดเพลิงไหม้วังท่าเตียนนี้วอดวายมลายสิ้นดูเวิ้งว้างโล่งเตียน ตั้งแต่ถนนท้ายวังทางด้านทิศใต้ของวัดโพธิ์ไปจนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา พาเอาบ้านเรือนของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ระดับเสนาบดี เช่น เจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยารัตนาพิพิธ หมดสิทธิ์ที่จะพำนักอาศัย เพราะเพลิงเผาผลาญจนเตียนช่างสมกับนามว่า ท่าเตียน เสียจริง ๆ

พระราชหัตถเลขา ร. 4 วันเพลิงไหม้ท่าเตียน

เหตุการณ์ไฟไหม้วังท่าเตียนมีรายละเอียดปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงบันทึกไว้ว่า
“ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น 3 ค่ำ เดือนอ้าย เพลายามเศษเกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่โรงของพระองค์เจ้า มหาหงส์ ในกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ เพราะที่นั่นเหย้าเรือนกระท่อมห้องหอรุงรังมาก แลทางคับแคบนัก หามีใครในบ้านเรือน พวกนั้นช่วยกันดับไม่ มีแต่ขนของ คนจะเข้าช่วยดับก็ไม่มี ทางคับแคบนักจนคนในบ้านออกไม่ได้ตายในไฟคนหนึ่ง เรือนหม่อมเจ้าในวังกรมหมื่นสุรินทรรักษ์และเรือนข้าราชการที่ใกล้เคียงติดหมู่บ้านและโรงงานของนายด้านทำการในพระราชวังนี้ และด้านทำการในวัดพระเชตุพนติดพันกับวังนั้นก็ไหม้เสียหมด ครั้งนี้ลมพัดป่วนไปมาหวนกำแพง เพลิงไหม้ร้อนแรงนักคนเข้าตัดทางก็ไม่ได้ ไฟไหม้ขึ้นมาข้างบนจนกำแพงโรงไหมใกล้พระคลังสินค้า ข้างล่างไหม้ลงไปจนตพานฉนวนวัดพระเชตุพน คนที่เข้าไปดับตั้งรับอยู่ที่นั่นได้ช่วยกันยื้อแย่งสกัดไว้ เพลิงจึงหยุดเพียงนั้น การเป็นอันน่ากลัว ที่ป้อมภูผาสุทัศน์เพราะเพลิงไหม้ใกล้ป้อมจนหลังคาร้อนเป็นควัน ในป้อมมีดินปืนอยู่จะเอาไว้ก็ใช่ จะเอาออกมายกไปอื่นก็ใช่ ต้องเอาน้ำรดดินเสียให้ชุ่มโชกทีเดียวจนพ้น กลัวถูกไฟร่วงลงแล้วจึงขนออกมาได้เอาไปเสียที่อื่น แลป้อมนั้นรดน้ำรักษาไว้ได้
ข้าพเจ้าก็ไปอยู่บนป้อมนั้นด้วย เสียแต่ประตูยอด ท่าช้าง ท่าเรือจ้างล่างไฟไหม้บานแลทับหลังหมด ที่นั้นวังหน้าท่านไปรับอยู่ก็ดับไม่ได้ เพราะตักน้ำมาแต่สระวัดพระเชตุพน ไม่ใคร่จะทันจะพอจะดับไฟ เรือนหม่อมเจ้าในกรมสุรินทรรักษ์ 28 หลังเรือนพระองค์เจ้ามหาหงส์ 3 หลัง เรือนข้าราชการแลราษฏร 44 หลัง ศาลาวัดสองหลังครึ่ง โรงงานของในหลวง 9 โรง ประตูท่าช้างล่าง 1 ตัว ไม้ในโรงงานนั้นเป็นของจะทำที่อยู่ข้าพเจ้าและพระอารามหลวงไหม้เสียหมด ถ้าจะคิดเป็นไม้ต้นก็มากกว่าร้อยต้น ดับได้แต่ไม้ซุงยังไม่ได้เลื่อยเหลืออยู่กึ่งบ้าง ค่อนบ้างสัก 9 ต้น 10 ต้นเท่านั้น แล้วเพราะเป็นเจ้าแผ่นดินต้องเสียค่าทำขวัญหม่อมเจ้าพวกใน กรมหมื่นสุรินทรรักษ์แลข้าราชการซึ่งเพลิงไหม้เรือนนั้น ตามอย่างพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยพระราชทานครั้งก่อน เป็นเงิน 11 ชั่ง เสื้อผ้าเป็นอันมากราคาประมาณ 4 – 5 ชั่งอีก เพราะฉะนั้นควรจะสงสารข้าพเจ้าให้มากทุกคน เงินที่ให้ไปนั้นก็ไม่ได้เอาเงินคลัง เอาเงินภาษีที่ขึ้นกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ซึ่งเป็นส่วนพระคลังสินค้าตกมาส่งให้ข้าพเจ้าใช้สอยอยู่ตามบังคับสมเด็จองค์น้อย ท่านให้ไว้แต่แรกแม่ตานี (เจ้าจอม มารดาของกรมหมื่นสุรินทรรักษ์) ตายแล้วมานั้น แลเมื่อแรกเกิดเพลิงขึ้นในทิศนั้น ข้าพเจ้าเห็นใกล้ ตกใจรีบลงไปว่าจะเข้าช่วยรักษาบ้านสรรเพชรภักดี ครั้นลงไป ได้ความว่าเพลิงไหม้ขึ้นมาข้างบน แลเห็นตะพานวัดพระเชตุพน กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท แลเจ้านายราชวรวงศ์หลายองค์ ตั้งรับอยู่มากที่ตะพานวัดพระ เชตุพนแล้วข้างบนเป็นปลายลมสำคัญใกล้วังด้วย ข้าพเจ้าจึงได้รับอยู่ที่ป้อมภูผาสุทัศน์ดูให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี เจ้าพระยายมราชช่วยกันรักษาโรงไหมและพระคลังสินค้าเอาไว้ให้ได้ ... ฯลฯ”
เมื่อได้อ่านพระราชหัตถเลขาของล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วจึงทราบว่าเหตุการณ์ไฟไหม้บริเวณวังท่าเตียนหนักหนาสาหัสปานใด ขนาดจอมกษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องเสด็จออกไปทรงบัญชาการดับไฟทั้งสองพระองค์ แสดงว่าในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มิได้มีหน่วยดับเพลิงทั้งทางรถและทางเรืออะไรเลย ทั้งที่บริเวณท่าเตียนก็อยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ยังไม่สามารถลำเลียงน้ำมาดับไฟได้ แสดงให้เห็นว่าทุกฝ่ายตั้งอยู่ในความประมาท มิได้มีการวางแผนหรือตระเตรียมตั้งถังเก็บน้ำ ถังทรายเอาไว้ดับเพลิงเมื่อแรกเริ่มเลย พอเกิดไฟไหม้ก็โวยวายพากันขนข้าวของวิ่งหนีเอาตัวรอด ไม่มีหน่วยผจญเพลิงหรือบ่าวไพร่เอาไว้ช่วยกันดับไฟแต่ต้นมือ
ผลก็คือถูกไฟเผาผลาญวอดวายมลายสิ้นจนกลายเป็นท่าเตียนสมชื่อ ความจริงบ้านเมืองในสมัยรัชกาล ที่ 4 เครื่องมือหรือเครื่องสูบน้ำสำหรับไว้ใช้ดับเพลิงหรือรถดับเพลิง เรือดับเพลิง ทางยุโรปก็น่าจะผลิตจำหน่ายแล้ว สงสัยว่าเหตุใดชาติในยุโรปไม่นำมาเสนอขายให้ประเทศสยามมีไว้ใช้บ้าง น่าจะมีใช้กันตั้งแต่ต้นยุคกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว
เมื่อได้ศึกษาจากพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับกรณีเพลิงไหม้ท่าเตียนแล้ว จึงได้ทราบความจริงเกี่ยวกับเรื่องเครื่องดับเพลิงดังนี้
“นี่ก็เป็นธรรมของข้าราชการไทยอยู่แล้ว” “เครื่องมือจะดับเพลิงนั้น สำคัญอยู่ก็คือสูบน้ำ สูบที่มีอยู่สักสองสามสำรับแต่ก่อน เมื่อปีหลังเมื่อเกิดเพลิง ที่วังกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์นั้นก็เอาไปใช้ได้ เพราะได้แก้ไขไว้ดีใหม่ ๆ ครั้นเมื่อเกิดเพลิงครั้งนี้ลากเอาไปจะใช้ดับเพลิงที่ประตูท่าช้าง สูบน้ำก็ไม่ขึ้นเลย เพราะลำท่อหนังหนูกัดขาดทะลุไปยังไม่มีใครซ่อมแซมเตรยินที่ในกระบอกสูบนั้น หนูเข้าไปทำรังกัดไม้แลหนังลูกสูบเสียหมด จะถอดออกดูก็ไม่ออก เหล็กควงเป็นสนิมติดกันไปหมด การรักษาของไม่ดี ไม่มีใครเอาใจใส่ นี่ก็เป็นธรรมเนียมของข้าราชการเมืองไทยอยู่แล้ว วันนั้นวังหน้าท่านอวดเก้อไป ท่านว่าสูบอย่างเช่นเอาไปนั้น เป็นสูบอย่างเก่าเขาไม่ใช้แล้ว เขาจึงขายเสียแก่คนโง่ ๆ สูบอย่างใหม่ของท่านมีอยู่เล็กกว่านี้อีก แต่แรงกว่าอย่างนี้สองเท่าสามเท่า ท่อหนังนั้นก็ไม่ได้เย็บด้วยด้ายแลป่านตรึงด้วยหมุดทองเหลืองแน่นหนาดี แต่อวดก็อวดไป วันนั้นก็ไม่เอามาใช้ เสียดายอยู่ฤาอย่างไรไม่ทราบ
การที่ท่านทูตานุทูตได้ไปอยู่กรุงลอนดอนครั้งนี้ ก็เป็นช่องที่จะได้หาของดี ๆ ขอท่านจงเอาใจใส่หาสูบอย่างใหม่ แลเครื่องมือดับไฟอย่างไรดี ๆ ที่ควรพอกำลังไทยจะใช้ได้จะรักษาได้นั้น มาให้ข้าพเจ้าเป็นกำลังไว้สำหรับดับเพลิงสักสำรับ 1 ฤา 2 สำรับ ข้าพเจ้าจะดีใจมาก แต่อย่าตื่นเครื่องจักรฟืนจักรไฟไปกลัวจะเกินวาสนาไทยและเป็นของไม่สู้ใหญ่โต พอเอาลากฤายกไปตามถนนเล็ก ๆ เมืองนี้ได้ ไม่คับถนนขัดทางบกทางเรือ... ฯลฯ”
อ่านพระราชหัตถเลขาของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 แล้วก็เป็นที่น่าสลดใจว่า ข้าราชการไทยส่วนใหญ่ทุกยุคทุกสมัยไม่ได้ผิดแผกแตกต่างกันเลย ประพฤติปฏิบัติตนแบบ เช้าชามเย็นชาม ไม่สนใจใยดีในหน้าที่รับผิดชอบ นอกจากจะได้เจ้ายดีไขลานอยู่เสมองานจึงจะไม่เสียหาย แต่นายแบบนี้ไม่เป็นที่สรรเสริญของลูกน้อง หาว่าเจ้าระเบียบแบบแผนไปโน่น
ภายหลังจากถูกไฟไหม้เหลือแต่ซากวังแล้วก็ถูกรื้อถอน เหลือแต่แผ่นดินที่ราบเรียบเตียนโล่งกับท่าเทียบเรือ ผู้คนทั้งหลายจึงเรียกขานกันในนามว่า ท่าเตียน
ส่วนเจ้านายทั้งหลายก็ไม่ทรงปรารถนาจะปลูกสร้างวังใหม่ ต่างแยกย้ายกันไปสร้างวังใหม่ที่อื่น แต่ที่ดินส่วนที่อยู่เหนือวัดพระเชตุพนขึ้นไป คือฝั่งตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวัง รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นที่ทำาการของศาลต่างประเทศ และที่พำนักของแขกเมืองกับเป็นสถานที่อยู่ของพวกฝรั่งต่างชาติที่เข้ามารับราชการในกรุงสยาม

ที่มา :
โกวิท ตั้งตรงจิตร. “เรื่องของวัดโพธิ์ ท่าเตียน จากนิทานหลอกเด็กถึงพระราชหัตถเลขา” เรียงร้อยรอยอดีต 1 : ยศช้าง ขุนนาง พระ มหัศจรรย์วัด เวียงวัง. กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น, 2548.