Search

Title อาจารย์สนั่น สุมิตร
Object มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. "อาจารย์สนั่น สุมิตร," พิธีเปิดป้ายห้องประชุมที่จารึกนามผู้มีพระคุณต่อมหาวิทยาลัย ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, 2549. Call number
Object "สนั่น สุมิตร," ชุมนุมพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2541. หน้า 263-270. Call number
Summary สนั่น สุมิตร เป็นบุตรคนที่ 6 ของนายเออเนสท์ สเปนซ์ สมิธ (Ernest Spence Smith) และนางชุ่ม สมิธ
การศึกษา : ปริญญาตรีเกียรตินิยม (B.A. Hons.) ทางวิชาเคมี ฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University)
ตำแหน่ง :
พ.ศ.2477 ข้าราชการครูโท สอนวิชาวิทยาศาสตร์ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
พ.ศ. 2487 ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ.2493 หัวหน้ากองโรงเรียนรัฐบาล กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
พ.ศ.2496 ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ (ท่านแรก) สังกัดกรมอาชีวศึกษา
พ.ศ.2499 อธิบดีกรมอาชีวศึกษา
พ.ศ.2505 อธิบดีกรมวิสามัญศึกษา
พ.ศ.2511 ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

อาจารย์สนั่น สุมิตร เป็นผู้เสนอโครงการจัดตั้งวิทยาลัยแห่งใหม่ ณ ตำบลบางมด อำเภอราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี
ประเทศไทยเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 มีวิศวกรชาวต่างประเทศเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศมากขึ้น เกิดช่องว่างในการสื่อสาร และประสานงานระหว่างแรงงานไทยและเทศพอสมควร ม.ล.ปิ่น มาลากุล ปลัดกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ต้องการให้ขยายการศึกษาจากระดับมัธยมศึกษาไป ทางอาชีวศึกษาในระดับที่สูงขึ้นและมากขึ้น เพื่อสนองความต้องการของประเทศในด้านช่างเทคนิคและการขยายตัวด้านอุตสาหกรรม
อาจารย์สนั่น สุมิตร อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หัวหน้ากองโรงเรียนรัฐบาล กรมสามัญศึกษา และอดีตผู้อำนวยการวิทยาลัย เทคนิคกรุงเทพ กรมอาชีวศึกษา ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอาชีวศึกษาขณะนั้น พัฒนาการจัดการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายอาชีพ (ม.4 - 6) และระดับประกาศนียบัตร วิชาชีพชั้นสูง (ป.วส.) ได้รับความนิยมจากประชาชนส่งบุตรหลานเข้าเรียนมากขึ้น สามารถผลิตกำลังคนในระดับกลางได้ตามความต้องการของตลาดแรงงาน ยังผลให้มี การขยายสถานศึกษาในระดับวิทยาลัยอาชีวศึกษาและวิทยาลัยเทคนิคออกสู่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ
ในส่วนกลาง ท่านอธิบดีสนั่น สุมิตร ได้เสนอโครงการจัดตั้งวิทยาลัยแห่งใหม่ รับผู้สำเร็จชั้นเตรียมอุดมศึกษา สายวิทยาศาสตร์ เข้าศึกษาต่อในหลักสูตรประกาศนียบัตร วิชาชีพชั้นสูง (ป.วส.) สาขาช่างอุตสาหกรรมเป็นแห่งแรกในประวัติศาสตร์การอาชีวศึกษาของประเทศไทย โครงการดังกล่าวได้รับอนุมัติ ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2502
ท่านอธิบดีได้ออกสำรวจหาสถานที่ตั้งวิทยาลัยด้วยตนเอง และพบว่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ณ ตำบลบางมด อำเภอราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี ซึ่งกรมอาชีวศึกษาได้ขอเช่าไว้ 32 ไร่ ปลูกสร้างอาคารไม้สองชั้นแบบมาตรฐาน 14 ห้องเรียน เสร็จเรียบร้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2501 พร้อมทั้งบ้านพักครูใหญ่และโรงอาหาร อีกครึ่งหลังยังว่างอยู่เนื่องจากยังไม่มีถนน ไฟฟ้า น้ำประปา และโทรศัพท์เข้าถึง ท่านจึงเสนอสถานที่นี้เป็นที่ตั้งวิทยาลัยเทคนิคแห่งใหม่ให้ชื่อว่า “วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี”
กระทรวงศึกษาธิการประกาศตั้งมหาวิทยาลัยเทคนิค ธนบุรี เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 กรมอาชีวศึกษาได้คัดสรรอาจารย์ 7 ท่าน จากวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ซึ่งเป็นต้นแบบการบริหารวิทยาลัยเทคนิคที่ขยายออกไปส่วนภูมิภาคมาให้ และแต่งตั้งอาจารย์ประภา ประจักษ์ศุภนิติ เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัย
ท่านอธิบดีสนั่น สุมิตร ได้พยายามสนับสนุนการดำเนินงานของวิทยาลัยเทคนิคธนบุรีอย่างเต็มที่ อาทิ จัดหางบประมาณสนันสนุนจากรัฐบาล จัดหานักเรียนทุนรัฐบาล ซึ่งไปศึกษาต่อต่างประเทศสำเร็จการศึกษากลับมาเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัย ทำโครงการขอความช่วยเหลือจากกองทุนพิเศษแห่งสหประชาชาติ แนะนำให้วิทยาลัยจดทำ หลักสูตรแยกเรียนเป็นสาขาวิชาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ฯลฯ เมื่อท่านจะย้ายไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิสามัญศึกษาและปลัดกระทรวงศึกษาธิการตามลำดับ ก็ได้รองอธิบดีพงศ์ศักดิ์ วรสุนทโรสถ มาสานงานอาชีวศึกษาสืบต่อไปอย่างต่อเนื่อง และเจริญก้าวหน้าจนส่วนหนึ่งของวิทยาลัยในสังกัดได้เป็นกรมสถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้า วิทยาเขตธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2541 จนถึงปัจจุบัน
ที่มา:
"สนั่น สุมิตร," ชุมนุมพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2541. หน้า 263-270.
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. (2549). พิธีเปิดป้ายห้องประชุมที่จารึกนามผู้มีพระคุณต่อมหาวิทยาลัย ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.