Search

Title เสาชิงช้า
Object Call number
Summary เสาชิงช้า สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2327 เพื่อประกอบการโล้ชิงช้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ของพระราชพิธีตรียัมปวาย ทรงโปรดให้สร้างเทวสถาน (โบสถ์พราหมณ์) ในบริเวณใกล้เคียงกัน บริเวณนี้เป็นที่พำนักของพราหมณ์และชาวอินเดีย ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ซึ่งเป็นชุมชนเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณท้องทุ่งและที่ลุ่ม มีลักษณะเป็นป่าดงที่มีสิงสาราสัตว์อยู่มากมาย

ล่วงถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 บริเวณเสาชิงช้าได้กลายเป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นโดยลำดับ ตลาดบริเวณนี้เป็นที่รู้จัก ของชาวพระนครว่า "ตลาดเสาชิงช้า" สันนิษฐานว่า ตลาดเสาชิงช้านี้น่าจะเป็นร้านโรงทำด้วยไม้ นอกจากนั้นบริเวณนี้ยังคงเป็นสวนดอกไม้ ดังปรากฎในนิราศชมตลาด ซึ่งกล่าวถึงบริเวณนี้ว่า "...แต่ก่อนนี้เป็นที่สวนมาลา พวงบุปผาสารพัดกำดัดมี เป็นสวนหลวงแผ่นดินล่วงพระชนม์ลับ เป็นลำดับบุปผาชาติเจริญศรี สารพัดบุปผาสุมาลี..." และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้ปรับปรุง "ถนนเสาชิงช้า" ให้เป็นถนนที่กว้างขวางขึ้น และพระราชทานนามว่า "ถนนบำรุงเมือง" สองข้างถนนค่อยๆ เจริญขึ้นตามลำดับ มีบ้านเรือนราษฎรและวังเจ้านายเกิดขึ้นหลายแห่ง เมื่อถึงปลายรัชกาลก็มีร้านโรงและตึกแถวค้าขายตลอดทั้งถนน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายถนนบำรุงเมืองให้กว้างออกไป พร้อมให้รื้อตึกและบ้านเรือนที่ถนนบำรุงเมือง แล้วสร้างขึ้นใหม่ตามแบบที่กำหนด ซึ่งต่อมากลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่และเป็นย่านการค้าที่เจริญที่สุด

ที่มา :
กรุงเทพมหานคร. จดหมายเหตุการบูรณปฎิสังขรณ์เสาชิงช้า พุทธศักราช 2549. กรุงเทพฯ : สำนักผังเมือง, 2550. หน้า 2-14.