Search

จากอดีตสู่มจธ.

ที่มา :

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ฯพณฯ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้ปรารภกับอาจารย์สนั่น สุมิตร อธิบดีกรมอาชีวศึกษา ว่า ประเทศไทยยังขาดผู้ประสานงานระหว่างวิศวกร และ Skill Labours อีกมาก การผลิตช่างเทคนิคในสมัย พ.ศ. ๒๕๐๐ ต้องใช้เวลา ๖ ปี กล่าวคือ รับนักเรียนจบชั้นมัธยม ๓ เรียนต่อวิชาช่างอุตสาหกรรม ๓ ปี ได้วุฒิ ปว.ช. แล้วออกทำงานหรือศึกษาต่อในวิทยาลัยเทคนิคอีก ๓ ปี ได้วุฒิ ปว.ส. จึงจะทำหน้าที่ช่างเทคนิคได้ ทำอย่างไร จึงจะได้มาซึ่งผู้ประสานงานระหว่างวิศวกรและ Skill Labours ในเวลารวดเร็วกว่านั้น ?

ในสมัยนั้นจำนวนมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีเพียง ๕ แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร 

การรับนักศึกษาเข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษาเหล่านั้นในปีหนึ่งๆ จึงจำกัดจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาแล้วไม่มีที่เรียนต่อเริ่มสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี ท่านอธิบดีคิดที่จะรับผู้จบมศ. ๕ สายวิทยาศาสตร์ เข้าศึกษาวิชาชีพต่อในวิทยาลัยเทคนิค กรุงเทพฯ แต่ขณะนั้นวิทยาลัยเทคนิค กรุงเทพฯ รับนักศึกษาระดับต่างๆ เข้าศึกษาตามหลักสูตรของวิชาต่างๆ ถึง ๕ ประเภท ซึ่งมีปัญหาในการจัดการศึกษาต่างระดับพอสมควร เกรงว่าจะมีปัญหามากขึ้นจึงระงับไว้ก่อน 
เมื่อท่านได้เดินทางไปประชุมกับองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และได้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญขององค์การฯ พบลู่ทางที่จะดำเนินการได้ จึงได้เสนอโครงการวิทยาลัยเทคนิคแห่งใหม่ต่อกระทรวงศึกษาธิการ และได้รับอนุมัติให้ดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๒

ระหว่างสำรวจหาสถานที่ตั้งวิทยาลัย ท่านอธิบดีสนั่น สุมิตร พบว่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ณ ตำบลบางมด อำเภอราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการขอเช่าไว้ ๓๒ ไร่ เพื่อตั้งโรงเรียนพาณิชยการ ธนบุรี และได้ดำเนินการปลูกสร้างอาคารเรียนไม้สองชั้นแบบมาตรฐาน ๑๔ ห้องเรียน เสร็จเรียบร้อย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๑ พร้อมทั้งบ้านพักครูใหญ่ และโรงอาหาร อีกครึ่งหลัง ได้ถูกทิ้งว่างไว้ (ภายหลังกรมอาชีวศึกษาพิจารณาเห็นว่า ตำบลบางแวก อำเภอภาษีเจริญ เป็นสถานที่เหมาะสมกว่า จึงเปลี่ยนแผนการไปตั้งโรงเรียนพาณิชการ ธนบุรี ณ ที่ใหม่) โดยมีผู้ใหญ่บ้าน และนายสมหวัง วงศ์ประเสริฐ เป็นผู้รับอาสดูแลอาคารสถานที่ แม้จะยังไม่มีถนน ไฟฟ้า น้ำประปา และโทรศัพท์ ก็ยังมีอาคารพร้อมที่จะให้ใช้ได้ทันที ท่านจึงเสนอสถานที่นี้เป็นที่ตั้งวิทยาลัยแห่งใหม่ ให้ชื่อว่า “ วิทยาลัยเทคนิค ธนบุรี ” 

กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศตั้ง “ วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี ” เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๓ รับผู้จบเตรียมอุดมศึกษา (ม.๖ ปัจจุบัน) เฉพาะสายวิทยาศาสตร์ ศึกษาต่อ ๓ ปี ได้วุฒิ ปว.ส. นับเป็นวิทยาลัยเทคนิค แห่งแรกในประเทศไทย ที่รับผลิตช่างเทคนิคจากผู้จบชั้นสูงสุดสายสามัญ
กรมอาชีวศึกษาแต่งตั้ง นายประภา ประจักษ์ศุภนิติ อาจารย์เอก หัวหน้าฝ่ายวิชาช่างก่อสร้าง คณะวิชาเทคนิค จากวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคธนบุรี 
พร้อมทั้งอนุมัติให้อาจารย์จากวิทยาลัยเดียวกันมาร่วมงาน อีก ๖ ท่าน คือ นายสมพงษ์ ปัญญาสุข นางสาวอุบล จันทกมล นายอุทัย แก้วช่วง นายสุธรรม ทวิชศรี นายทนง รุ่งโรจน์ดี และนายอิทธิศักดิ์ ทองคำ 
วันที่อาจารย์ทั้ง ๗ ท่าน มาทำพิธีเปิดวิทยาลัยฯ ได้อาศัยยานพาหนะคู่อาชีพคือ เรือจ้าง ผู้อำนวยการ ได้พยายามขอร้อง นายอดิเรก ศรีศุภผล นายอำเภอราษฎร์บูรณะ ในขณะนั้นให้ช่วยเร่งรัดการตัดถนนเข้าสู่วิทยาลัยฯ ให้เสร็จทันเปิดภาคเรียน ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๐๓

ระหว่างเตรียมงานต่างๆ ผู้อำนวยการเล็งเห็นว่า เนื้อที่เพียง ๓๒ ไร่ จะไม่เพียงพอแต่กิจการในอนาคต จึงเสนอกรมฯ ขอขยายอาณาเขตออกไปอีก ๙๙ ไร่ ๒ งาน ๗๙ ตารางวา วิทยาลัยฯ ต้องเสียค่าชดเชยที่ดินแก่ผู้เช่าเดิมรวม ๑๔๗,๑๐๕ บาท การจัดเตรียมเอกสาร สิ่งพิมพ์ วัสดุและครุภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้ในกิจการของวิทยาลัยฯ ได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์สุต เหราบัตย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิค กรุงเทพฯ และอาจารย์แผนกวิชาต่างๆ ของวิทยาลัยเทคนิค กรุงเทพฯ อย่างดีเยี่ยม

การรับสมัครและสอบคัดเลือกนักศึกษารุ่นแรก ได้ดำเนินการ ณ วิทยาลัยเทคนิค กรุงเทพฯ นอกจากติดประกาศโฆษณาเป็นหนังสือราชการแล้ว วิทยาลัยฯ ยังได้เสนอกรมฯ ให้ออกประกาศระเบียบการต่างๆ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุศึกษา เพื่อให้ผู้สนใจ เข้าศึกษาในวิทยาลัยเทคนิค ธนบุรี ได้ทราบโดยทั่วถึงยิ่งขึ้น วิทยาลัยฯ เปิดรับสมัคร ๑-๘ เมษายน มีผู้สมัคร ๖๑๙ ราย เป็นชาย ๖๐๙ หญิง ๑๐ มาเข้าสอบ ๕๘๗ สอบได้ ๓๐๐ สำรอง ๖๐ คน ในจำนวนผู้สอบได้มีผู้มารายงานตัวและขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาเพียง ๑๒๒ คน วิทยาลัยฯ ยืด กำหนดเวลามอบตัวออกไปถึง ๑๐ มิถุนายน มีนักศึกษามามอบตัวเพิ่มขึ้นเป็น ๑๖๘ คน วิทยาลัยฯ จึงขอยืดเวลาออกไปอีก ๑ สัปดาห์ มีนักศึกษาเพิ่มขึ้นเป็น ๒๑๙ คน และมีการลาออกบ้าง วิทยาลัยฯ จึงประกาศสอบคัดเลือกครั้งที่ ๒ เพื่อให้ได้นักศึกษาเต็มจำนวนที่จะรับได้ ปรากฏว่ามีผู้สมัคร ๑๔๒ คน เข้าสอบ ๑๓๘ สอบได้ ๙๕ มาขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา ๙๐ คน เมื่อเริ่มดำเนินการสอนเป็นปรกติ นักศึกษารุ่นแรกประกอบด้วยผู้สอบคัดเลือกได้ ๒๙๙ คน เป็นนักศึกษาหญิง ๑ คน คือ น.ส.สุนันทา ป้อมเอี่ยม นักศึกษาฝากเรียนจากกรมอาชีวศึกษา ๑ คน และนักศึกษาพ้นสภาพจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๔ คน รวมทั้งสิ้น ๓๐๔ คน

การจัดการเรียนการสอน วิทยาลัยฯ แบ่งนักศึกษาออกเป็น ๖ ห้อง ใช้หลักสูตรรวมแบบอุตสาหกรรมศิลป์ (Industrial Arts) ปีแรกให้เรียนเหมือนกันทุกวิชา ได้แก่ วิชาช่างก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ ช่างโลหะ และเขียนแบบ เฉลี่ยเวลาเรียนตลอดปีออกเป็น ๕ ส่วนเท่าๆ กัน คิดเป็น ๑๖๐ ชั่วโมงต่อวิชา รวม ๕ วิชานี้เป็นเวลา ๘๐๐ ชั่วโมง ส่วนเวลาที่เหลืออีก ๔๐๐ ชั่วโมงนั้น ได้จัดให้ศึกษาวิชาสามัญ และสัมพันธ์กับการช่างอีก ๖ วิชา คือ ภาษาอังกฤษ จิตวิทยา คณิตศาสตร์ เคมี ฟิสิคส์ และเศรษฐศาสตร์ การเรียนแบ่งออกเป็น ๓ เทอม เริ่มเรียน ๙.๐๐ น. เลิกเรียน ๑๖.๐๐ น. อาคารไม้ถูกใช้เป็นอาคารเอนกประสงค์คือห้องเรียน ห้องทำงานอาจารย์ ห้องเก็บครุภัณฑ์ ห้องเขียนแบบ และห้องฝึกงานชั่วคราว ฯลฯ โรงอาหารก็ใช้เป็นห้องปฏิบัติงานด้วย การฝึกงานภาคปฏิบัตินั้น นอกจากจะปฏิบัติในห้องฝึกงานแล้ว นักศึกษายังต้องปฏิบัตินอกห้องด้วย เริ่มตั้งแต่ช่วยพัฒนาการถนนประชาอุทิศ และบูรณะสะพานไม้ตามคำเชิญของนายอำเภอราษฎร์บูรณะ ทำถนนภายในวิทยาลัย, ต่อเติมและสร้างบ้านพักอาจารย์, เดินสายไฟ, สร้างครุภัณฑ์บางอย่าง, ปรับพื้นที่ทำสนามกีฬาชั่วคราว, พัฒนาวัดสารอด, ฯลฯ เป็นต้น นับว่าเป็นประสบการณ์ในการศึกษาภาคปฏิบัติที่อำนวยประโยชน์แก่ท้องถิ่นในระยะบุกเบิกอย่างไม่มีรุ่น ไหนเหมือน

ปีการศึกษาแรกนี้วิทยาลัยฯ มีบุคลากรในตำแหน่งอาจารย์และครูรวม ๒๙ คน (นับถึงวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๐๔) นักการภารโรง ๔ คน คณะอาจารย์ที่ทำหน้าที่บริหารวิทยาลัยฯ ชุดแรก ประกอบด้วย

๑. ส่วนกลาง
นายสมพงษ์ ปัญญาสุข รองผู้อำนวยการ
น.ส.อุบล จันทกมล บรรณารักษ์
นายไพศาล ห์ลีละเมียร หัวหน้าวิชาสามัญ
๒. สำนักงานเลขานุการ
นายประสาธน์ กล้าหาญ เลขานุการวิทยาลัยฯ
นายอิทธิศักดิ์ ทองคำ นายทะเบียน
นางสุดเฉลียว ตันไพโรจน์ หัวหน้าแผนกการเงิน
นางศรีสวัสดิ์ มีนะวณิช หัวหน้าแผนกบัญชี
ร.ต.หญิงสุจิตรา พึ่งวุฒิ หัวหน้าแผนกสวัสดิการนักศึกษา
๓. ฝ่ายวิชาช่างก่อสร้าง
นายเจริญ วัฏฏะสิงห์ หัวหน้าฝ่าย
๔. ฝ่ายวิชาช่างไฟฟ้า
นายสวาสดิ์ ไชยคุณา หัวหน้าฝ่าย
๕. ฝ่ายวิชาช่างยนต์
นายสุนทร ศรีนิลทา รักษาการหัวหน้าฝ่าย
สภานักศึกษาชุดแรกประกอบด้วย
๑. นายระพี พฤกษะวัน หัวหน้าชั้น ก. ประธานนักศึกษา
๒. นายนิวัตร รัตนปราโมทย์ หัวหน้าชั้น ฉ. รองประธานนักศึกษา
๓. นายดุสิต สุวิกรม รองหัวหน้าชั้น ง. ประธานแผนกศิลปกรรม
๔. นายสมนึก สิงห์คะนอง หัวหน้าชั้น ค. ประธานกีฬา
๕. นายสมชาย เมธานาวิน หัวหน้าชั้น ง. ปฏิคม
๖. นายพยัพ จันทรประสิทธิ์ หัวหน้าชั้น ข. เหรัญญิก
๗. นายสุวรรณ สุวรรณเดโช หัวหน้าชั้น จ. เลขานุการ
๘. นายกิมเยี้ยง เจี่ยตระกูล รองหัวหน้าชั้น ก. กรรมการกลาง
๙. นายวิเชียร มิ่งเมือง รองหัวหน้าชั้น ข. กรรมการกลาง
๑๐. นายประกิจ มังกร รองหัวหน้าชั้น ค. กรรมการกลาง
๑๑. นายเฉลิม สังข์ทอง รองหัวหน้าชั้น จ. กรรมการกลาง
๑๒. นายสุรินทร์ ศิริมังคะโล รองหัวหน้าชั้น ฉ. กรรมการกลาง

อาจารย์สมพงษ์ ปัญญาสุข เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

ค่าบำรุงวิทยาลัยปีแรก แบ่งออกเป็น 
ค่าลงทะเบียน ๑๐.- บาท
ค่าเวชภัณฑ์ ๑๐.- บาท
ค่าห้องสมุด ๒๐.- บาท
ค่าสโมสร ๑๐.- บาท
ค่ากีฬา ๑๐.- บาท
ค่าบำรุง ๔๐.- บาท
ค่าวัสดุภาคปฏิบัติ ๒๑๐.- บาท
รวม ๓๐๐.- บาท
ค่าประกันของเสียหาย ๑๐๐.- บาท

ในระหว่างที่อาจารย์และนักศึกษาดำเนินการบุกเบิกอยู่กลางทุ่งนาและป่าช้าบางมด ท่านอธิบดีสนั่น สุมิตร ได้พยายามติดต่อขอความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติอย่างเต็มที่ ท่านได้เชิญ Mr. Malcolm S. Adiseshiah รองประธานกรรมการบริหารแห่งองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) มาสำรวจชัยภูมิของวิทยาลัยฯ เพื่อร่างโครงการขอความช่วยเหลือ หลังจากนั้น Mr. Stanley Nelson ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคของ UNESCO ได้มาสำรวจภาวการณ์ของวิทยาลัยฯ อีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๒-๑๕ กันยายน ๒๕๐๓ และได้แนะนำให้วิทยาลัยฯ จัดทำหลักสูตรเสียใหม่ โดยให้แยกเรียนเป็นสาขาๆ ไปตั้งแต่ชั้นปีที่ ๑ นอกจากนั้นผู้เชี่ยวชาญฯ ยังได้ช่วยวิทยาลัยทำเรื่องราวขอความช่วยเหลือ (Request for Special Fund) ตามระเบียบขององค์การอีกด้วย 
การก่อสร้าง ซ่อมแซม บูรณะ ตกแต่ง และปรับปรุงอาคารสถานที่ภายในบริเวณวิทยาลัยที่ดำเนินการในปีแรกนี้ ได้แก่
๑.สร้างโรงฝึกงานช่างยนต์และช่างโลหะ บ้านพักครูห้องน้ำ ห้องส้วม ๑.๙๑๐.๐๐๐.- บาท
๒.ต่อท่อประปา เข้าสู่บริเวณวิทยาลัยฯ และอาคารต่างๆ ๑๔,๘๖๕.๘๐.- บาท
๓.สร้างรั้วกั้นอาณาเขตบริเวณวิทยาลัยฯ ยาวประมาณ ๑,๓๖๐ เมตร ๔๐,๗๘๖.- บาท
๔.สร้างโรงอาหารชั่วคราว ๒,๘๘๐.- บาท
๕.ซื้อดินลูกรังและหินผุทำถนนในบริเวณวิทยาลัยฯ ๑๘,๑๕๕.- บาท
๖.ปรับปรุงบ้านพักผู้อำนวยการ ๕,๔๔๐.- บาท
๗.ติดตั้งสายไฟฟ้าภายในบริเวณวิทยาลัยฯ ๔,๙๖๐.- บาท
๘.ทำลานคอนกรีตและทางเท้าเชื่อมอาคารเรียนกับโรงอาหาร ๓๒,๐๐๐.- บาท

การคมนาคม และการขนส่งเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่งที่กระทบกระเทือนความก้าวหน้า และความสำเร็จของงานตามที่ได้ตั้งความมุ่งหมายไว้ ถนนประชาอุทิศเป็นถนนดินเหนียว รถประจำทางก็ยังไม่มีวิทยาลัยฯ ได้ติดต่อบริษัทธนนครขนส่ง จำกัด ให้ช่วยจัดรถรับส่งเฉพาะเช้าและเย็นระหว่างเปิดเรียน พอถึงฤดูฝนถนนชำรุดทรุดโทรมมาก รถเข้าไม่ได้ทั้งอาจารย์ และนักศึกษาก็ต้องเดิน จะอาศัยเรือจ้างได้บ้างเฉพาะเวลาน้ำขึ้นแต่เสียเวลาเดินทางมากขอร้องทางจังหวัดธนบุรีให้ทำถนนให้วิทยาลัยฯ ก็ต้องออกเงินซื้อดินลูกรังมาทำถนนในปีการศึกษาแรกนี้เป็นเงิน ๑๑๔,๑๕๐.- บาทและยังต้องลงแรงช่วยกันทำถนนอีกด้วย สภาพถนนเช่นนี้เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการเดินทางของนักศึกษาและอาจารย์ ตลอดจนการขนส่งวัสดุและอุปกรณ์การสร้าง รวมทั้งวัสดุฝึกหัดที่จัดซื้อมาเพื่อการศึกษา 
กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้ระเบียบฯ ว่าด้วยวิทยาลัยเทคนิค ธนบุรี เมื่อ ๑ พฤษภาคม ๒๕๐๔ อนุมัติให้ใช้หลักสูตรใหม่ แบ่งออกเป็น ๔ ฝ่ายวิชาคือฝ่ายวิชาช่างก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ และช่างโลหะ แยกกันเรียนตามสาขาตั้งแต่ชั้นปีที่ ๑ ศึกษาครบตามหลักสูตร ๓ ปี จะได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงสาขานั้นๆ สำหรับนักศึกษาเก่าวิทยาลัยฯ ได้ให้ยื่นความจำนงเลือกสาขาที่จะเรียนและวิทยาลัยฯ พิจารณาคะแนนรายวิชาประกอบด้วย