Search

ประวัติการเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดิน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

“ ศาลาว่าการนครบาล ” เป็นผู้เช่าที่ดินบางส่วน และค้างค่าเช่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2470 ต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้ครอบครองใช้ประโยชน์บางส่วน พื้นที่ 3 ไร่ 3 งาน 22.12 วา เป็นที่ตั้งโรงเรียนประชาบาลบางมด เมื่อ พ.ศ. 2477 และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนนาหลวงเมื่อ พ.ศ. 2495

เมื่อกระทรวงศึกษาธิการประกาศตั้ง วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 วิทยาลัยได้ใช้พื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ส่วนที่ติดต่อกับโรงเรียนนาหลวง(เดิม) 30 ไร่ 12.43 วา และขอขยายเขตเพิ่มเติมอีก 99 ไร่ 2 งาน 79 วา ต้องเสียค่าชดเชยให้เอกชนผู้เช่าทำสวนและทำนา เป็นเงิน 147,105.00 บาท

นายอำเภอราษฎร์บูรณะขอตัดถนนผ่านบริเวณวิทยาลัย เพื่อเข้าสู่สนามกีฬาและสวนสาธารณะของเทศบาลธนบุรี พื้นที่ 8 ไร่ 1.75 วา และต่อมาขอตัดถนนสายใหม่อีก 376.68 ตารางวา

พ.ศ.2504 นายอำเภอราษฎร์บูรณะขอแลกเปลี่ยนที่ดินปลูกสร้างอาคารโรงเรียนนาหลวง (ใหม่) กับมหาวิทยาลัยฯ และได้ย้ายออกไปอยู่ ณ ที่ใหม่ (พื้นที่ติดต่อกับหอพักสันติ) ตั้งแต่ พ.ศ. 2508

สถาบันฯ ต้องจ่ายค่าเช่าที่ดิน ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงเรียนนาหลวงเดิม ตั้งแต่ พ.ศ. 2470 จนถึงปี พ.ศ.2531

พ.ศ.2527 สถาบันขอใช้ที่ดินริมถนนประชาอุทิศ-พุทธบูชา ส่วนที่ติดต่อกับบริเวณ คณะพลังงานและวัสดุ กับภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และขอปิดถนนสายเก่าเมื่อถนนสายใหม่ก่อสร้างเสร็จ

พ.ศ.2529
- 6 มีนาคม  กรุงเทพมหานครได้แจ้งการอนุญาตให้สถาบันใช้ที่ดินบางส่วนได้ โดยขอยกเว้นบริเวณลานจอดรถหน้าสวนธนบุรีรมณ์ไว้ และให้สถาบันใช้คืนเงินลงทุนพัฒนาที่ดินให้ กทม. ซึ่งสถาบันได้ขอตั้งงบประมาณคืนให้แล้วในปีพ.ศ. 2530 เป็นเงิน 1,513,391.30 บาท 

พ.ศ.2531 สถาบันฯ ขอรังวัดที่ดิน เพื่อเปลี่ยนแปลงสิทธิการเช่า ให้ถูกต้องตามการครอบครองใช้ประโยชน์จริง

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีครอบครองการใช้ประโยชน์อยู่ประมาณ 129 ไร่

ที่มา : เอมอร ศรีนิลทา . พิธีพระราชทานปริญญาบัตรสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี . กรุงเทพฯ : ม.ป.พ., 2531


กรมพระสมรศิริเชษฐ

ที่ ๗ พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา

ประสูติ เมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๘ ค่ำ ปีชวด จัตวาศก จุลศักราช 1214 ตรงกับวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2395

ในปีเถาะ พ.ศ. 2449 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระยศสถาปนาขึ้นเป็นกรมหลวง มีประกาศดังนี้

ศุภมัสดุ พระพุทธสาสนกาล เป็นอดีตภาคล่วงแล้ว 2446 พรรษา ปัตยุบันกาล จันทรคติ นิยม สัสสังวัจฉระ กติกมาส กาฬปักษ์ สัปตมีดิถี พุธวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก 122 พฤศจิกายนมาส เอกาทสมมาสาหคุณพิเศษ ปริเฉทกาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระปริมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ในการพระราชพิธีฉัตรมงคลครั้งนี้ ประจวบปี ซึ่งได้เสร็จดำรงสิริราชสมบัติมาครบสองเท่า รัชกาลที่ 4 พระราชรำพึงถึงพระเดชพระคุณ สมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ควรจะยกย่องพระราชธิดาพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายในให้เป็นพระเกียรติยศดังพระราชประเพณีเคยมีมาแต่ก่อน

จึงทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา เป็นพระเจ้าลูกเธอ อันพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตามาก ได้ฉลองพระเดชพระคุณสนิทมากยิ่งกว่าพระองค์อื่นๆ ด้วยทรงพระปรีชาว่องไวในราชกิจทั้งปวง และมีพระอัธยาศัยโอบอ้อมอารีกว้างขวาง ในหมู่พระบรมวงศ์ และข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ทั้งได้เป็นที่สนิทชิดชอบพระราชอัธยาศรัยในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแต่ยังทรงพระเยาว์มาก ได้ทรงมีอุปการ ในกิจการต่างๆ เป็นอันมาก ครั้นภายหลังมาก็ได้ทรงรับเลี้ยงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ได้ทรงรับราชกิจฝ่ายใน เป็นผู้ใหญ่ในพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงพระอุตสาหะดำริ กะการและบอกกล่าวบังคับบัญชาการฝ่ายในให้สำเร็จไปตามพระราชประสงค์และราชประเพณี ทรงพระปรีชาสามารถในราชกิจเก่าใหม่ ตั้งพระหฤทัยจงรักภักดีเป็นอันมาก บัดนี้ทรงเจริญวัยวุฒิเป็นผู้ใหญ่ในราชตระกูล สมควรที่จะดำรงพระเกียรติยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายในพระองค์หนึ่ง

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา เป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายใน มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่าพระเจ้าพี่นางเธอ กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ วรรคบริวาร ทรงศักดินา 15000 ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมราชวัง จงทรงเจริญพระชนมายุ วรรณ สุข พละ ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล อิฐศุภผล ธนสารสมบูรณ์ วร เกียรติยศ ปรากฏสิ้นกาลช้านานเทอญ ให้ทรงตั้งเจ้ากรม เป็นหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ ถือศักดินา 600
ให้ทรงตั้งปลัดกรม เป็นขุนพิเศษสรรพกิจผดุง ถือศักดินา 400
ให้ผู้ทีได้รับตำแหน่งทั้ง 3 นี้ ทำราชการในหลวงและในกรมตามอย่างธรรมเนียม เจ้ากรม ปลัดกรม สมุห์บาญชี ในพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายในสืบไป ให้มีความสุขสวัสดิเจริญเทอญ

ในรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ดูแลรักษากุญแจพระบรมมหาราชวังชั้นในมาจนตลอดรัชกาล

สิ้นพระชนม์ ในรัชกาลที่ 7 เมื่อวันอังคาร เดือน 6 แรม 4 ค่ำ ปีมะแม ตรีศก จุลศักราช 1293 ตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2474

พระชนมายุ 79 ปี

ที่ 1 ในเจ้าจอมมารดาเที่ยง