Search




ตำบลหว้ากอ

ทรงคำนวณได้ถูกต้องแม่นยำ

พระองค์ทรงคำนวณไว้ตั้งแต่ปีขาล อัฐศก ว่าจะเกิดสุริยุปราคาจับหมดดวงในราชอาณาจักรสยาม ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันอังคาร เดือน 10 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก ซึ่งตรงกับจุลศักราช 1230 หรือวันที่ 18 สิงหาคม พุทธศักราช 2411 และจะมองเห็นมืดเต็มดวงตั้งแต่ปราณบุรีถึงเมืองชุมพร โดยดวงจันทร์จะเข้าจับดวงอาทิตย์จากทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เวลา 4 โมงกับบาทหนึ่ง (10 นาฬิกา 6 นาที) แล้วออกทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เวลาบ่ายโมงกับ 6 บาท (13 นาฬิกา 36 นาที) โดยดวงอาทิตย์จะมืดนานบาทหนึ่งของนาฬิกา คือ 6 นาทีนาฬิกากล (6 นาที) และจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงตรงกลาง เวลา 5 โมงเจ็ดบาท (11 นาฬิกา 42 นาที)

ในวันที่ 18 สิงหาคม พุทธศักราช 2411 นั้น ในเวลา 10 นาฬิกา 6 นาที ท้องฟ้าไม่แจ่มใส มีเมฆหนา แต่เมื่อเวลา 10 นาฬิกา 16 นาที เมฆจึงจางท้องฟ้าสว่างมองเห็นดวงอาทิตย์ถูกจับทางทิศตะวันตก และท้องฟ้าเริ่มสลัวลง จนเมื่อเวลา 11 นาฬิกา 20 นาที ท้องฟ้ามืดลง จนมองเห็นดวงดาว จนกระทั่ง เวลา 11 นาฬิกา 36 นาที 10 วินาที เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงนาน 6 นาที 45 วินาที และสุริยุปราคาคลายจนโมกขบริสุทธิ์ ในเวลา 1 นาฬิกา 37 นาที 45 วินาที

ต่อมา รศ.ดร. ขาว เหมือนวงศ์ ได้พิสูจน์ว่าในวันที่ 18 สิงหาคม พุทธศักราช 2411 ได้เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงตรงกลาง ในเวลา 11 นาฬิกา 42 นาที จริง ตรงกับที่พระองค์ทรงคำนวณไว้



ทรงวางรากฐานด้านวิทยาศาสตร์

1. ทรงสถาปนาเวลามาตรฐาน

รศ.ดร. ขาว เหมือนวงศ์ ให้ความเห็นว่าการที่พระองค์ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาได้นั้น พระองค์ท่านทรงกระทำตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง และการที่พระองค์ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาได้เช่นนี้นั้น แสดงว่าประเทศไทยจะต้องมีระบบเวลามาตรฐานและมีวิธีการรักษาเวลามาตรฐานแบบอารยประเทศที่เชื่อถือได้ ถึงขั้นนำมาวัดตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของโลกได้


พระที่นั่งภูวดลทัศไนย



หลังคาพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญในหมู่พระอภิเนานิเวศน์ ถ่ายจากพระที่นั่งภูวดลทัศไนย
(แลเห็นโครงปราสาทแถวนอก) ประมาณ พ.ศ. 2407


ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2395 ทรงโปรดให้สร้างที่ประทับชื่อพระอภิเนานิเวศน์ อันประกอบด้วยพระที่นั่งภูวดลทัศไนยซึ่งเป็นตึกสูง 5 ชั้น ชั้นบนสุดติดตั้งนาฬิกาขนาดใหญ่ทั้ง 4 ด้าน เพื่อบอกเวลามาตรฐานของประเทศไทย และโปรดเกล้าให้มีเจ้าหน้าที่รักษาเวลามาตรฐานขึ้น คือพันทิวาทิตย์ ทำหน้าที่เทียบเวลาตอนกลางวันขณะดวงอาทิตย์ผ่านเมอริเดียนของหอนาฬิกา และพันพินิตจันทรา ทำหน้าที่เทียบเวลาตอนกลางคืนขณะดวงจันทร์ผ่านเมอริเดียนของหอนาฬิกา จึงกล่าวได้ว่าเป็นตำแหน่งงานทางวิทยาศาสตร์ของไทยชุดแรก ดังนั้นเวลามาตรฐานของประเทศไทยสมัยนั้น ก็ควรเป็นเวลาของเส้นแวงประจำหอนาฬิกาหลวงแห่งนี้ ซึ่งควรเป็นเส้นแวงที่พระองค์ท่านทรงใช้ในการคำนวณการเกิดสุริยุปราคา ทรงสถาปนาเวลามาตรฐานนี้ขึ้นก่อนที่รัฐสภาอังกฤษจะประกาศระบบเวลามาตรฐานในปี พ.ศ. 2423