Search




รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4
ทรงครองราชย์ ระหว่าง พ.ศ.2394-2411 ตลอด 17 ปี เป็นระยะเวลาที่ประเทศไทยหรือสยามขณะนั้นก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีการค้าขายกับต่างประเทศครั้งใหญ่  คือ สนธิสัญญาบาวริง  รวมถึงสนธิสัญญาจากชาติอื่น ๆ ที่ตามมา ทำให้ระบบการค้าแบบผูกขาดโดยพระคลังสินค้าถูกยกเลิก ยกเลิกสินค้าต้องห้าม เปลี่ยนแปลงวิธีการเก็บภาษีจากเรือสินค้าใหม่ เป็นการเปลี่ยนประเพณีการค้าขายของไทยครั้งใหญ่

ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์และพระมหาพิชัยมงกุฎ  ฉายเมื่อ พ.ศ.2407

สนธิสัญญาบาวริง :

ในปี 2398 เซอร์ จอร์น บาวริง (Sir John Bowring) เอกอัครราชฑูตจากสำนักอังกฤษ เดินทางเข้ามาขอทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้า ด้วยสนธิสัญญาบาวริง (Bowring Treaty) ในการทำสนธิสัญญากันครั้งนั้น ฝ่ายไทยดำเนินตามพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวคือ ความข้อใดซึ่งเห็นว่าอังกฤษคงจะเอาให้จงได้ ไทยก็ยอมให้โดยดีเพื่อแลกเอาข้อที่ไทยต้องการให้อังกฤษลดหย่อนผ่อนผันให้ ทั้งนี้เพื่อให้การทำสนธิสัญญาเป็นไปโดยราบรื่น จะไม่เป็นการเปิดโอกาสให้ ฝรั่งเอากำลังบังคับ เช่นที่ได้กระทำกับจีนและพม่า

เซอร์ จอร์น บาวริง ได้กล่าวไว้ว่า ข้าพเจ้าลุกขึ้นกล่าวว่ารู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการที่ข้าพเจ้าได้รับการตอนรับเป็นอย่างดี ทั้งยังได้รับความสะดวกทุกประการในการเจรจาทางการฑูตของข้าพเจ้าให้เป็นผลสำเร็จรวดเร็ว ข้าพเจ้าได้แสดงความมั่นใจว่าสนธิสัญญาฉบับนี้จะช่วยให้ชื่อของประเทศสยามเป็นที่รู้จักกันยิ่งขึ้นในหมู่ประเทศตะวันตก และจะช่วยให้เกิดความมั่งคั่งถาวรให้แก่ประเทศคู่สนธิสัญญาทั้งสอง และแก่โลกอันไพศาลในที่สุด...

เซอร์ จอห์น บาวริง (Sir John Bowring)
17 ตุลาคม 2335 - 23 พฤศจิกายน 2415

สนธิสัญญาบาวริง เป็นสนธิสัญญาที่ราชอาณาจักรสยามทำกับสหราชอาณาจักร ลงนามเมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2398

และต่อมาการที่ไทยยอมทำสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศอื่น ๆ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เดนมาร์ก โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ และปรัสเซีย ด้วยนั้น ก็เพื่อมิให้อังกฤษเข้ามามีอิทธิพลเหนือไทยแต่เพียงประเทศเดียว เป็นการชักนำให้ประเทศต่าง ๆ เข้ามารักษาอิทธิพลของตนในไทย ในลักษณะที่ต่างก็ถ่วงดุลอำนาจกันเองเพื่อมิให้ชาติใดชาติหนึ่งเข้ามามีอำนาจและอิทธิพลในไทยมากเกินไป แต่การที่จะทำให้ประเทศอยู่รอดปลอดภัยได้เพียงใดนั้นก็ขึ้นกับความสามารถในเชิงการฑูตและการบริหารบ้านเมืองของผู้นำเป็นสำคัญ

สาระสำคัญของสนธิสัญญาบาวริงที่เกี่ยวกับการค้ามีดังนี้

1. ผู้ซื้อสินค้าจะซื้อ ขายสินค้าส่งออกนอกประเทศได้ทุกชนิดโดยเสรี แต่รัฐบาลไทยสามารถสงวนสิทธิที่จะห้ามส่งสินค้าออกนอกประเทศได้ เมื่อเกิดทุพภิกขภัย
2. ผู้ขายจะนำสินค้าเข้ามาขายในกรุงเทพได้ทุกชนิด นอกจากอาวุธยุทธภัณฑ์ต้องขายให้กับรัฐบาลเท่านั้น และฝิ่นต้องขายให้กับเจ้าภาษีฝิ่นเท่านั้น
3. ผู้ขายและผู้ซื้อสามารถติดต่อซื้อขายกันได้โดยเสรี
4. ยกเลิกค่าธรรมเนียมปากเรือ  เปลี่ยนมาเก็บภาษีศุลกากรจากสินค้าขาเข้าร้อยละ 3

ผลจากการทำสนธิสัญญาทำให้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางการค้าซึ่งเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจ ในเวลาต่อมา