Search




การทำการค้าโดยเสรี : มีชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายมากมาย สินค้าของไทยขายได้ดีขึ้น โดยเฉพาะข้าว รัชกาลที่ 4 ทรงส่งเสริมให้ราษฎรทำนาให้เต็มกำลัง ถ้าราษฎรผู้ใดไม่มีนาทำ  ให้ข้าหลวง เสนา กรมการ จัดแจงจองนาให้แก่ราษฎรทำ และเพิ่มผลผลิตโดยการขยายเนื้อที่การเพาะปลูกออกไป มีการกระตุ้นให้ราษฎรเกิดแรงบันดาลใจ โดยทรงปรับปรุงอัตราภาษีอากรใหม่ให้ยุติธรรม เช่น ภาษีอากรนา พระองค์ได้ตีพิมพ์ประกาศอัตราภาษีอากรให้ราษฎรได้รู้ เพื่อให้ราษฎรมีกำลังใจทำมาหากิน  นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ปลูกพืชเกษตรอื่น ๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากข้าว คือ อ้อย ยาสูบ ฝ้าย ปอ ผักผลไม้ (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ, จดหมายเหตุรัชกาลที่ 4 เลขที่ 148 จ.ศ. 1224) เพื่อส่งเป็นสินค้าออกให้มีความหลายหลายมากขึ้น เป็นการวางรากฐานระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ในสังคมสยาม

ศาสตราจารย์ อินแกรม ผู้เขียนเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในประเทศไทย ระหว่างปี 2393-2493 ได้กล่าวถึงเศรษฐกิจของไทยในช่วงนี้ไว้ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจส่วนสำคัญที่สุดของไทยคือ การผลิตข้าว ซึ่งได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายหลังการทำสนธิสัญญาบาวริง จากเดิมที่เคยส่งออกน้อยกว่าปีละ 1 ล้านหาบได้เพิ่มขึ้นเป็น 26 ล้านหาบในปี 2494 แสดงว่าในระยะหนึ่งร้อยปีปริมาณข้าวส่งออกเพิ่มขึ้นจากสมัยที่ทำสนธิสัญญาถึง 25 เท่า ในขณะที่จำนวนประชากรของประเทศเพิ่มขึ้นเพียงเท่าเดียว แสดงว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างขนาดใหญ่ตั้งแต่ปี 2398 เป็นต้นมาไม่มีกิจกรรมเศรษฐกิจใดเท่ากับการส่งออกข้าวอันเป็นผลผลิตของชาวนาไทย

James C. Ingram  เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ได้เขียนวิทยานิพนธ์
เรื่อง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในประเทศไทย 2393-2493 (Economic Change in Thailand Science 1850-1970)

หมอรัดเลได้กล่าวว่า (บางกอกรีคอเดอร์, 2409 : 223) กรุงเทพฯ นี้เปรียบเสมือนยุ้งฉางอันใหญ่สำหรับจำหน่ายข้าวในทวีปเอเชีย มีเรือสินค้ารอบรรทุกข้าวเป็นจำนวนมากคือในช่วง วันที่ 1 มกราคม 2409 มีกำปั่นต่างประเทศ เข้ามาจอดอยู่ในกรุงเทพฯ ถึง 26 ลำ กำปั่นไทย 46 ลำ รวมเป็น 72 ลำ

แม่น้ำเจ้าพระยา มีระดับน้ำลึกพอสำหรับเรือกลไฟ ขนาดระวางบรรทุก 1,500 ตัน  และเห็นโรงสีเรียงรายทั้งสองฝั่งแม่น้ำ



บางกอกรีเคอเดอร์, 2409:202 ระยะเวลาผ่านมาอีก 15 วัน มีเรือสินค้าเพิ่มขึ้นมาอีกเป็น 84 ลำ เรือเหล่านี้คอยบรรทุกข้าวแทบทุกลำ
บางกอกรีเคอเดอร์, 2409:203 แสดงให้เห็นว่าการค้าขายกับต่างประเทศขยายตัวไปอย่างกว้างขวางมาก และรัฐบาลได้เปิดเสรีทางการค้าระหว่างพ่อค้ากับประชาชน ยกเลิกผูกขาดตามสนธิสัญญาบาวริ่ง
กองจดหมายเหตุแห่งชาติ, เอกสารรัชกาลที่ 4 เลขที่ 122 จ.ศ. 1218 รัฐบาลได้ออกประกาศอนุญาตให้ราษฎรซื้อขายสินค้ากับต่างประเทศ ใจความว่า บรรดาราษฎรผู้ใดมีข้าว ปลา น้ำอ้อย น้ำตาล และสินค้าอื่น ๆ เมื่อพอใจจะขายกับคนนอกประเทศก็ให้ขายตามใจชอบโดยสะดวกสบายเถิด