Search



การเรียนรู้ร่วมกับนักบวชจากประเทศฝ่ายตะวันตก


นักบวชและมิชชันนารีศาสนาคริสต์ได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา มีนักบวชและมิชชันนารีหลายท่านที่มีบทบาทในการช่วยด้านการพัฒนาประเทศ เนื่องจากหลายท่านมิได้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องศาสนา แต่ยังมีความสามารถในด้านอื่น ๆ เช่น ภาษาศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ เช่น นายแพทย์ แดน บีช บรัดเลย์ (Dr. Dan Beach Bradley) หรือที่คนไทยเรียกว่าในสมัยนั้น หมอบรัดเลย์ บาทหลวงปาลเลอกัว(Bishop Pallegoix) เป็นต้น 
เมื่อชาวตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทย และเข้ามาขอทำสัญญามากขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความจำเป็นที่คนไทยจะต้องเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เพื่อการติดต่อสื่อสาร และเนื่องจากวัดสมอรายอยู่ใกล้กับวัดเขมร หรือวัดคอนเซปชัน พระองค์จึงทรงคุ้นเคยกับบาทหลวงปาลเลอกัวส์ (Bishop Pallegoix) และทรงแลกเปลี่ยนความรู้กับท่านบาทหลวง โดยพระองค์ทรงสอนภาษาบาลี ภาษาไทย ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมแก่ท่านบาทหลวง ส่วนบาทหลวงได้ถวายการสอนภาษาละติน ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติตะวันตกให้พระองค์ท่าน เมื่อบาทหลวงปาลเลอกัวส์ เขียนหนังสือสัพพะพะจะนะภาษาไทยนั้น พระองค์ท่านคงจะมีส่วนพระราชทานความช่วยเหลือในการเขียน

การส่งคณะฑูตไปเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้านโปเลียนที่ 3 และพระสันตปาปาปิอุสที่ 9 (Pope Pius IX) ที่สำนักวาติกันนั้น พระองค์ทรงได้รับความช่วยเหลือจากบาทหลวงปาลเลอกัวร์ เช่นกัน และเมื่อทรงย้ายไปประทับที่วัดบวรนิเวศ ได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับนายแพทย์ เจสซี แคสเวล (Dr. Jesse Caswell) ซึ่งคนไทยเรียก หมอหัสกัน โดยทรงเรียนสัปดาห์ละ 4 วัน วันละ 1 ชั่วโมง ในแต่ละชั่วโมงนั้น นอกจากมีการเรียนภาษาอังกฤษแล้วยังมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ตำรับตำรา ความคิดเห็น และเมื่อมีข้อสงสัยก็ทรงไต่ถาม จึงทำให้พระองค์ท่านได้เรียนรู้วิชาการต่างๆ มากมายเช่น ภูมิศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และการปกครองของชาติตะวันตก

พระองค์ได้สั่งซื้อหนังสือ ตำรา เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ จากต่างประเทศเข้ามาเพื่อทรงศึกษาค้นคว้าและทดลอง จึงทำให้พระองค์ทรงมีความเชี่ยวชาญในวิชาดาราศาสตร์ จนสามารถพยากรณ์การเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้ถูกต้องแม่นยำล่วงหน้าถึง 2 ปี