Search



การเรียนรู้จากประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงภัยคุกคาม จากประเทศมหาอำนาจฝ่ายตะวันตก เนื่องจากพระองค์ทรงติดตามข้อมูลข่าวสาร ของประเทศเพื่อนบ้านตลอดเวลา

ทั้งจากหนังสือพิมพ์และจากตำราต่างประเทศที่ทรงสั่งซื้อและมีผู้นำมาถวาย และทรงแลกเปลี่ยนความรู้กับชาวต่างประเทศ จึงทรงพบว่าแม้ประเทศในแถบเอเชียรวมทั้งประเทศไทย ไม่มีความประสงค์จะติดต่อคบค้ากับประเทศตะวันตก แต่เมื่อเป็นยุคของการล่าอาณานิคมของประเทศที่มีกำลังรบ และแสนยานุภาพ การต่อต้าน การปฏิเสธ หรือการปิดประเทศ ย่อมไม่ก่อให้เกิดผลดีแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นซึ่งปิดประเทศมาเป็นเวลานาน ต้องยินยอมทำสนธิสัญญา คะนะระวะ เพื่อเปิดประเทศกับอเมริกา พม่าต่อต้านและทำสงครามกับอังกฤษและในที่สุดก็เสียเอกราช ญวนถูกฝรั่งเศสยึดครอง แม้แต่จีนและ อินเดียและซาราวัคก็ถูกยึดครองโดยอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงนำข้อเท็จจริงเหล่านี้มาใช้ประกอบการตัดสินพระทัย ว่าควรจะดำเนินวิเทโศบายประการใด และอย่างไรจึงจะรักษาเอกราช และอธิปไตยให้รอดพ้นจากการคุกคามของมหาอำนาจเหล่านั้น เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก นโยบายลู่ตามลม ยอมโอนอ่อนตามเท่าที่จำเป็น และการถ่วงดุลย์อำนาจจึงบังเกิดขึ้น และในขณะเดียวกัน ประเทศมหาอำนาจได้เริ่มคุกคามเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนประเทศราชของไทย คือ เขมร ลาว และแหลมมลายู พระองค์จึงต้องปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย เพื่อไม่ให้ประเทศมหาอำนาจใช้เป็นข้ออ้างในการยึดครอง

การ ทรงยินยอมแก้ไขสนธิสัญญาตามคำเรียกร้องของราชฑูตอังกฤษ ทรงยอมเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และการเปิดประเทศ ทรงติดต่อกับต่างประเทศอย่างทรงรู้เท่าทัน แต่ยังคงรักษาเอกราช อิสรภาพ และอธิปไตยไว้ได้จนทุกวันนี้ นับเป็นการตัดสินพระทัยที่ถูกต้องและควรแก่การยกย่องสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง