Search



เซอร์ จอห์น เบาว์ริง (Sir John Bowring) หรือพระยาสยามานุกูลกิจ สยามมิตรมหายศ (พ.ศ.๒๓๓๕-พ.ศ.๒๔๑๕)
ภาพจาก : ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. หน้า ๑๖๗.
พ. ศ.๒๔๑๐ กงสุลอังกฤษ ได้นำระบบการส่งหนังสือทางไปรษณีย์มาใช้ติดต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับสิงคโปร์ เนื่องจากมีชาวตะวันตกเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพิ่มมากขึ้น มีการจัดตั้งสถานกงสุลขึ้นในกรุงเทพฯ เพื่อควบคุมดูแลคนในสังกัดและการค้าขายของตน ทำให้การติดต่อส่งข่าวสารไปมาระหว่างสยามกับต่างประเทศในเชิงการพาณิชย์มี มากขึ้น โดยในระยะแรกใช้ดวงตราไปรษณียากรของอินเดียมาใช้ชำระเป็นค่าฝากส่ง ต่อมาจึงใช้ตราไปรษณียากรของสเตรตส์ เซ็ตเติลเมนตส์ (Straits Settlements) และเกาะฮ่องกงที่พิมพ์อักษร “B” แทนคำว่า Bangkok ไว้บนตราไปรษณียากรผนึกลงบนไปรษณียภัณฑ์แทน นอกจากนี้ยังมีการฝากส่งไปรษณียภัณฑ์ไปกับบริษัทเอกชนที่เป็นตัวแทนเดินเรือ สมุทร โดยไม่ผ่านที่ทำการไปรษณีย์ของสถานกงสุลอังกฤษในกรุงเทพฯ ก็มีบ้าง ดังปรากฎในหนังสือความทรงจำซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าว่า “... การส่งจดหมายระหว่างประเทศสยามกับต่างประเทศ...ต้องอาศัยกงสุลอังกฤษ ...เพื่อนำไปส่งที่กรมไปรษณีย์สิงคโปร์ หรือฮ่องกงอีกชั้นหนึ่ง ... แต่หนังสือของรัฐบาล กรมท่ามอบนายเรือให้ไปส่งกงสุลสยามทิ้งไปรษณีย์ที่เมืองสิงคโปร์ ....” (บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด. ๒๕๕๑. หน้า ๒๘-๓๐)

ด้านต่างประเทศ

ทรงแต่งตั้งอัครราชทูตฝรั่ง คือ เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง ซึ่งเคยเป็นเอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มฝ่ายอังกฤษเข้ามาทำการเจรจากับไทย เป็นรายแรกในสมัยรัชกาลของพระองค์มาเป็น อัครราชทูตข้างฝ่ายไทย ดังนั้นจึง มีพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้ง เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง เป็นรัฐทูตวิสามัญ และอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มฝ่ายไทย ตั้งแต่วันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๑๐ และในวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๑๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์แก่เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง เป็น “พระยาสยามานุกูลกิจ สยามมิตรมหายศ” ในวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๑๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งตราประจำตัวทูตออกไปพระราชทาน ๒ ดวง รูปเหมือนกัน ดวงหนึ่งเขื่องกว่าสำหรับประทับหนังสือ อีกดวงหนึ่งย่อมกว่า สำหรับประทับครั่ง ตรานั้นมีรูปพระมหามงกุฎอยู่ตอนบน มีรูปช้างยืนแท่นใต้พระมหามกุฎ ส่วนใต้แท่นช้าง มีอักษรเป็นภาษาลาตินว่า Legatus Regius Negatev Regni Siamenst” (สุวรรณ เพชรนิล. ๒๕๔๗. หน้า ๑๔-๑๕. และสงวน อั้นคง. ๒๕๐๒. หน้า ๓๐-๔๓)

นอกจากเซอร์ จอห์น เบาริ่งแล้ว เอนก นาวิกมูล (๒๕๔๙. หน้า ๖๗-๘๓) กล่าวว่า “ทรงแต่งตั้งมิสเตอร์เฟาล์ (Mr. Edward Fowle) เป็นหลวงสยามานุเคราะห์ กงสุลสยาม ผู้มีอำนาจเต็มประจำกรุงร่างกุ้ง เมื่อปีพ.ศ.๒๔๐๖ (มิสเตอร์เฟาล์ผู้นี้เป็นผู้ดูแลคณะราชทูตไทยที่ไปอังกฤษ) เพื่อประสานงานที่เกี่ยวข้องกับบริทิศพม่า และเจ้าอังวะกับสยาม ต่อมาภายหลังหลวงสยามานุเคราะห์ ได้ส่งจดหมายมากราบทูลขอให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างศาลาเชิงพระธาตุสุเล ที่เมืองร่างกุ้ง เพื่อให้เป็นที่พักอาศัยแก่ผู้ที่มาเคารพพระธาตุ เมื่อความทราบแล้วก็โปรดเกล้าฯ ให้มีหนังสือไปขอที่จากรัฐบาลอังกฤษ เมื่อยอมแล้วจึงพระราชทานทรัพย์ออกไปสร้างศาลาตามที่เสนอ”