หน้าหลัก | พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี | มจธ.
สืบค้นข้อมูล

Title ตราเจ้ากรมโหร
Object ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 28 ฉบับที่ 12 ตุลาคม 2550 Call number
Summary ส. พลายน้อย กล่าวถึงเรื่อง ตราประจำกรมโหร ที่ปรากฎในกฎหมายตราสามดวง ว่า "ตราทวาทัศราศรี พระโหราธิบดีศรีจันทรการได้ใช้นั้นคือ จะเบิกบ่าวไพร่เข้าใช้ในราชการหลวง จะเอาคู่ความโจทจำเลยเปนบ่าวไพร่กรมเองก็ดี จะตั้งขุนหมื่นโหราสำหรับหัวเมืองเลก แลแขวงจังหวัด" เมื่อสอบถามโหรหลวงไม่พบใครที่รู้จัก หรือเคยเห็น
หากแต่มีภาพถ่ายตราตำแหน่งพระโหราธิบดี เจ้ากรมโหรหน้า ซึ่งถ่ายเก็บไว้ เป็นรูปเทวดานั่งชันเข่าบนแท่น พระกรซ้ายถือกระดานชนวน พระกรขวาถือพระขรรค์ ไม่มีชื่อตรา
"ได้ตรวจดูในบัญชีโคมตราวิสาขบูชาสมัยรัชกาลที่ 4 ก็บอกแต่ว่า พระโหราธิบดีโคมตราเทพดาถือพระขขรค์, ถือกระดานชนวน ไม่มีชื่อเรียกตราอีกเหมือนกัน ทำให้ไม่ทราบว่าเทพยดาองค์นั้นเป็นใคร..."
โหร ในสมัยโบราณต้องมีความรู้แม่นยำจริงๆ เพราถ้าเลินเล่อ หรือถวายคำพยากรณ์ผิดก็ต้องมีโทษ แต่โทษนั้นไม่หนัก แต่จะให้เกิดความละอายใจ จะได้มีความสนใจเอาใจใส่ในหน้าที่ให้มากยิ่งขึ้น บทลงโทษนี้ปรากฎกำหนดไว้ในกฎมณเฑียรบาลว่า "อนึ่งโหรพราหมณ์ทายเคราะห์ทายศึกทายฤกษ์ผิด ลงอาชญาลูกประคำใหญ่แขวนคอ"
ส. พลายน้อย ยกตัวอย่างครั้งรัชกาลที่ 4 เสด็จกลับจากทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอแล้ว ได้ตรัสถามพระโหราธิบดี (ชุม) ว่า สูรย์จับมากน้อยสักเท่าใด พระโหรากราบทูลว่า ยังเหลืออยู่ 4-5 นิ้ว รับสั่งว่า ใครขึ้นไปวัดได้ ข้างบนโน้น มีพระบรมราชโองการให้พระยาภูบาลเอาลูกประคำหอยโข่ง สวมคอพระโหรา ให้กินข้าวด้วยกะลา เอากาบหมากเป็นภาชนะใส่กับข้าวอยู่ 8 วันจึงพ้นโทษ อนึ่ง ลูกประคำนอกจากทำด้วยหอยแล้ว ทำด้วยอย่างอื่นก็มีเช่น ลูกประคำไม้ทองหลาง
รองศาสตราจารย์สมใจ นิ่มเล็ก ราชบัณฑิต ได้เขียนบทความเรื่องของกาบหมาก หรือกาบปูเล ว่า "...ภาชนะที่ทำด้วยกาบหมาก เป็นภูมิปัญญาชาวสวนที่ดัดแปลงกาบหมากที่มีอยู่ตามสวนมาทำเป็นภาชนะใช้สอย จะนำกาบหมากมาแช่น้ำเพื่อให้อ่อนนุ่ม แล้วนำมาเย็บคล้ายเย็บกระทงด้วยใบตอง ยกขอบสูงโดยรอบ มีหลายขนาดแล้วแต่จะใช้ใส่อะไร..."

ที่มา :
ส. พลายน้อย. "ตราเจ้ากรมโหร," ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 28 ฉบับที่ 12 ตุลาคม 2550 : หน้า 40-41.
สมใจ นิ่มเล็ก. "เรื่องของกาบหมาก หรือกาบปูเล," ปีที่ 28 ฉบับที่ 12 ตุลาคม 2550 : หน้า 162-169.