หน้าหลัก | พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี | มจธ.
สืบค้นข้อมูล

Title ภาพมุมกว้างรูปสุดท้ายสมัยรัชกาลที่ 4 กับปริศนาหลังภาพที่ประวัติศาสตร์ลืม
Object ไกรฤกษ์ นานา. “ภาพมุมกว้างรูปสุดท้ายสมัยรัชกาลที่ 4 กับปริศนาหลังภาพที่ประวัติศาสตร์ลืม,” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 29 ฉบับที่ 5 : มีนาคม 2551 : หน้า 94-113. Call number
Summary คุณไกรฤกษ์ นานา ได้นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่พบหลักฐานใหม่ ในบทความเรื่อง "ภาพมุมกว้าง" ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ว่า เป็นภาพของกระบวนเรือหลวงที่ออกไปรับคณะทูตของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ที่ส่งมาทำสัมพันธไมตรีกับสยามถึงเรือรบฝรั่งเศส ซึ่งจอดทอดสมอ อยู่หน้าตึกกงสุลฝรั่งเศส เพื่อเดินทางมายังออฟฟิศศาลต่างประเทศหน้าวัดพระเชตุพนฯ ซึ่ง เกรอัง (M.A. Gréhan) หรือพระยามธุรานุรักษ์ กงสุลสยามประจำกรุงปารีส ได้เขียนเล่าบรรยากาศการมาเยือนของคณะทูตพิเศษจากราชสำนักฝรั่งเศส ในหนังสือชื่อ ราชอาณาจักรสยาม (Le Royaume de Siam) ว่า “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งตั้งให้ราชทูตรวม 2 ท่าน คือ พระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ เป็นราชทูต และพระราชเสนาเป็นอุปทูต นำพระราชสาส์นและเครื่องมงคลราชบรรณาการไปถวายจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 เพื่อแสดงคารวะและเพื่อให้พิจารณาสนธิสัญญาฉบับใหม่ ซึ่งจะแบ่งดินแดนเขมร (หมายถึง เขมรส่วนนอกรวมทั้งพนมเปญ) ออกจากเขตแดนของสยามโดยสิ้นเชิง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่พระราชวังซังต์คลูด์
สัญญาฉบับนี้ได้ลงนามกันเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 1867 ระหว่าง ฯพณฯ เลอ มาร์ควิส เดอ มุสติเอ (S. EXC. M. Le. Marquis de Moustier) รมว. ว่าการต่างประเทศกับราชทูตของพระเจ้ากรุงสยาม และทางการได้มอบหมายให้ท่านเชเน เดอ เบลกูร์ (M. Du Chesne de Bellecourt) เป็นราชทูตพิเศษ ผู้มีอำนาจเต็ม เดินทางมาแลกเปลี่ยนสัญญากันที่เมืองบางกอก วันที่ 24 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน โดยเดินทางมากับเรือรบชื่ออาลาม (L’Alarme) และได้เดินทางออกจากบางกอก เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 1867"
ผลของสนธิสัญญาทำให้เกิดความเสมอภาคด้วยกันทั้งสองฝ่าย เช่น นับแต่นี้เรือของฝรั่งเศสสามารถขึ้นล่องโดยอิสระในอ่าวไทย เข้าและออกแม่น้ำเจ้าพระยารวมทั้งแม่น้ำโขงด้วย ที่สำคัญคือ ได้เกิดข้อตกลงเรื่องกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างราชอาณาจักรสยาม และเขมร ซึ่งแยกตัวออกจากกันตั้งแต่ ค.ศ. 1863 เขมรก็กลายเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสโดยสมบูรณ์ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 1867
ในการนี้จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ได้ส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์มาถวาย พร้อมพระบรมรูปหล่อจำลองขนาดครึ่งพระองค์ของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 และจักรพรรดินีเออเจนี เพื่อตอบแทนไมตรีจิตนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดาราช้างเผือก เพื่อถวายตอบเป็นไมตรีจิต
จากการตรวจสอบเอกสารทางประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส สอดคล้องกับพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ที่ระบุว่า
“ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือน 12 แรม 13 ค่ำ เป็นวันกำหนดโปรดเกล้าฯ ให้ ฯพณฯ หัวเจ้าท่าน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้รับเปลี่ยนหนังสือสัญญาที่ศาลต่างประเทศออฟฟิศหน้าวัดพระเชตุพน เปลี่ยนสัญญาแล้ว ฝ่ายไทยยิงปืนใหญ่สลุต 21 นัด ที่เรือรบฝรั่งเศสก็ได้ยิงปืนใหญ่สลุตอีก 21 นัดเหมือนกัน ครั้นแล้วราชทูตก็ได้เข้าเฝ้าออกใหญ่ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมในวันนั้นด้วย ครั้นวันรุ่งขึ้นราชทูตและออฟฟิศเซอร์ฝรั่งเศสเข้าเฝ้า ไปรเวต ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ถวายรูปหล่อด้วยทองเหลือง (คุณไกรฤกษ์ให้ความเห็นว่า ทองสำริด) รูปสมเด็จพระเจ้าเอมเปอเรอกรุงฝรั่งเศส 1 และพระรูปสมเด็จพระอัครมเหสี 1 แล้วมองสิเออร์ ดูเชด เนอร์ เบลตูร ราชทูต เชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ลงไปเที่ยวชมที่เรือรบอีก”
ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 62 ให้รายละเอียดปลีกย่อยที่น่าสนใจเพิ่มเติมว่า 1. เรือพระประเทียบที่ส่งไปรับคณะทูตและรับพระบรมรูปหล่อชื่อ เรือเหราล่องลอยสินธ์ และเรือเหราสินลาสมุทร นอกนั้นเรียกชื่อว่า เรือรูปสัตว์ เรือโตซ้าย เรือโตขวา เป็นต้น 2. คณะทูตจากฝรั่งเศสประกอบด้วย อัครราชทูต 1 คน และขุนนางประจำเรือรบอีก 18 คน รวม 19 คน 3. มีกระบวนแห่งทางบกและทางเรือ รับพระบรมรูปหล่อพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสและโปรดให้ยิงสลุตพระบรมรูปหล่อจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 และจักรพรรดินีเออเจนีที่ท่าออฟฟิศหน้าวัดพระเชตุพนฯ เป็นพิเศษอีก 21 นัด
โปรดให้ตั้งพระบรมรูปหล่อครึ่งองค์ทั้ง 2 พระรูปไว้ในที่อันสมควรภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม ต่อมาได้มีพระราชบัญชาให้พระยาจินดารังสรรค์ เจ้ากรมช่างสิบหมู่ ปั้นพระบรมรูปของพระองค์ด้วยปูนปลาสเตอร์ เพื่อส่งกลับไปพระราชทานจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 เป็นการตอบแทน แต่ยังไม่ได้ส่งไปเพราะเมื่อปั้นแบบเสร็จเตรียมจะหล่อ พอจะหล่อก็ต้องเอาเข้าเตาไฟ แต่การเอารูปปั้นลนไฟในขณะที่ยังมีพระชนม์อยู่ถือว่าเป็นอัปมงคล เลยรั้งรออยู่จนกระทั่งสิ้นรัชกาล โครงการส่งพระบรมรูปหล่อ รัชกาลที่ 4 ไปปารีสจึงต้องระงับไปโดยปริยาย
คุณไกรฤกษ์ นานา กล่าวว่า “รายละเอียดจากภาพมุมกว้างทั้งภาพวิวกรุงเทพฯ และภาพการเข้าเฝ้าฯ ของทูตฝรั่งเศส จากหนังสือพิมพ์ L’ANNÉE ILLUSTRÉE ค.ศ. 1868 ที่นำมาให้ชมนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงบุคคลข้างหลังภาพที่เคยโด่งดังมากในสังคมชาวต่างประเทศสมัยรัชกาลที่ 4 เขาผู้นั้นก็คือนายโอบาเร กงสุลใหญ่ฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ” ภาพของท่านในปัจจุบันมีปรากฎ ณ สถานทูตไทย กรุงปารีส เป็นภาพพิมพ์หิน ใส่กรอบอย่างดี แขวนอยู่บนผนังตรงประตูทางเข้าทำเนียบ ใต้ภาพมีคำบรรยายเขียนไว้ชัดเจนว่า “S.M. LE ROI DE SIAM, RECEVANT MONSIEUR AUBARET, CONSUL DE FRANCE” ซึ่งแปลว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม ทรงรับนายโอบาเร กงสุลฝรั่งเศสเข้าเฝ้าฯ ออกใหญ่”
ทั้งนี้คุณไกรฤกษ์ นานา ได้อธิบายรายละเอียด ดังนี้
1. ภาพนี้เกิดขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกรับคณะราชทูตฝรั่งเศส ชุดของนายเชเน เดอ เบลกูร์ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม (องค์เก่า) วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2410 ทรงสวมสายสะพายลิจอง ดอนเนอร์ ชั้น Grand Cross พร้อมทั้งดาราซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ประมุขชาวต่างชาติพึงได้รับจากจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 เพื่อเป็นเกียรติยศแก่ราชทูตของจักรพรรดิฝรั่งเศส
2. จุดมุ่งหมายในการมาของคณะทูตชุดนี้ ก็เพื่อแลกเปลี่ยนสนธิสัญญาเรื่องเขตแดนเมืองเขมร ซึ่งเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ทำไว้ที่พระราชวังซังต์ คลูด์ ในปีเดียวกันนี้ สำหรับการเข้าเฝ้าฯ ครั้งนี้ มีพระราชพิธีหลักถึง 4 พิธีแยกจากกัน เกิดขึ้น ณ สถานที่ต่าง ๆ คือ
2.1 ราชทูตแลกเปลี่ยนสนธิสัญญา กับ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่สมุหพระกลาโหม ณ ศาลต่างประเทศออฟฟิศหน้าวัดพระเชตุพนฯ วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2410 ตอนเช้า
2.2 ในวันเดียวกันตอนบ่าย คณะราชทูตเข้าเฝ้าฯ ออกใหญ่อย่างเป็นทางการ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อกล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสเดียวกันนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงอาหารแก่ราชทูตทั้งคณะ โดยโปรดให้ร่วมโต๊ะเสวยด้วย หลังจากนั้นมีการดื่มถวายพระพรทั้งสองฝ่ายในห้องที่จัดไว้เป็นพิเศษ
2.3 คณะราชทูตเข้าเฝ้าฯ แบบไปรเวตอีกครั้ง วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2410 ณ พระที่นั่งบรมพิมาน เพื่อถวายพระบรมรูปหล่อทองสำริด ขนาดครึ่งพระองค์ของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 และจักรพรรดินีเออเจนี มีพิธีแห่พระบรมรูปเข้าวังเป็นทางการต่างหาก
2.4 คณะราชทูตเข้าเฝ้าฯ แบบไปรเวตครั้งสุดท้าย วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2410 ณ พระที่นั่งบรมพิมาน เพื่อรับพระราชทานเครื่องราช ฯ ช้างเผือก เป็นเกียรติยศสำหรับติดเสื้อ และเพื่อกราบถวายบังคมลากลับ (เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก มีทั้งสิ้น 8 ชั้น แต่ที่พระราชทานคราวนี้ควรจะเป็นชั้นที่ 6 คือเหรียญทองช้างเผือก ห้อยแพรแถบประดับแนบเสื้อที่อกข้างซ้าย ซึ่งโปรดเกล้าฯ พระราชทานชาวต่างประเทศเนือง ๆ ตรานี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2404-คุณไกรฤกษ์)
3. บุคคลในภาพ ยืนคนแรกแถวหน้าสุด คือ นายโอบาเร กงสุลใหญ่ฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ โอบาเรเป็นผู้นำคณะราชทูตชุดพิเศษนี้ เข้าเฝ้าฯ ออกใหญ่อย่างเป็นทางการ หัวหน้าคณะที่เดินทางมาจากปารีสนำโดย นายเชเน เดอ เบลกูร์ พร้อมด้วยผู้ติดตามเป็นขุนนางฝรั่งเศสอีก 18 คน อนึ่ง ขุนสุทรสาทิสลักษณ์ (นายฟรานซิส จิตร) ได้ถ่ายรูปคณะราชทูตในกรุงเทพฯ เป็นที่ระลึก 1 รูป หนังสือพิมพ์ L’ANNÉE ILLUSTRÉE ฉบับ ค.ศ. 1868 ได้นำรูปนี้มาเขียนทับด้วยลายเส้นเพื่อตีพิมพ์ให้ชมด้วย (ดูภาพจากเล่มประกอบ)
4. ภายในท้องพระโรง มีรูปสิงโตสตัฟฟ์ซึ่งนักปราชญ์ฝรั่งเศส (คือนักวิชาการ) จัดส่งเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2406 (ค.ศ. 1863) ตามคำขอของเจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี และมิได้ถูกนำเข้ามาโดยคณะทูตชุดนี้ แต่คนส่วนมากมักเข้าใจผิดว่าทูตชุดนี้นำเข้ามา ในภาพสิงโตตัวนี้มีแก้วกระจกครอบไว้เพื่อจัดแสดงเป็นของแปลก และเป็นเครื่องตกแต่งท้องพระโรงไปในตัว
5. ภาพนี้เป็นภาพพระราชพิธีขนาดใหญ่ครั้งสุดท้ายในรัชกาลที่ 4 ที่จัดภายในท้องพระโรง ดังปรากฏว่า หลังจากพิธีนี้แล้ว ก็มิได้พระราชทานความสำคัญแก่แขกเมืองชุดใดเท่านี้อีกเลย จนกระทั่งเสด็จสวรรคต
6. พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นพระที่นั่งองค์หนึ่งและท้องพระโรงขนาดใหญ่ที่สุด ในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ ซึ่งมีอยู่รวมกันถึง 10 แห่ง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ทั้งหมู่ในที่ “สวนขวา” เพื่อเป็นพระราชมนเทียรแห่งใหม่สำหรับต้อนรับแขกเมือง ดังเช่นพระราชวังในโลกตะวันตก ลงมือสร้างเมื่อ พ.ศ. 2395 ใช้เวลาสร้าง 5 ปี เปิดใช้ครั้งแรก พ.ศ. 2400 และใช้ครั้งสุดท้ายสำหรับรัชกาลที่ 4 คือ ใน พ.ศ. 2410 สร้างโดยฝีมือคนไทยล้วน ๆ เดิมโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติเป็นแม่กอง สร้างไม่ทันเสร็จก็ถึงแก่พิราลัย เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงรับเป็นแม่กองแทน โดยมีกรมขุนราชสีหวิกรมเป็นนายช่างใหญ่ต่อมาจนสำเร็จ สร้างด้วยโครงไม้ประกอบอิฐ ปูนเป็นพื้น อยู่ต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 รวมเวลา 30 ปี พอไม้โครงผุก็ทรุดโทรมจนไม่อาจจะซ่อมแซมให้คืนดีได้ดังเดิม จึงต้องรื้อทิ้งหมดทั้งหมู่ในรัชกาลที่ 5
นายโอบาเรนำคณะทูตชุดพิเศษจากฝรั่งเศสเข้าเฝ้าฯ ออกใหญ่ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พ.ศ. 2410 (ค.ศ. 1867) เป็นภาพพระราชกรณียกิจครั้งสุดท้ายในรัชกาลที่ 4 ที่แพร่หลายที่สุด อย่างน้อยก็ประชาสัมพันธ์โดยหนังสือพิมพ์ L’ANNÉE ILLUSTRÉE ไปทั่วภาคพื้นยุโรป เนื่องจากมีคนบรรยายรูปแตกต่างกันไปคนละทิศละทาง อีกทั้งไม่เคยมีคำยืนยันตัวบุคลากรในรูปแน่นอน ข้อมูลจึงคลาดเคลื่อนเรื่อยมา คำบรรยายใต้รูปที่เก็บอยู่ ณ ทำเนียบสถานทูตไทย กรุงปารีส ทุกวันนี้เป็นคำให้การที่แม่นยำและน่าเชื่อถือที่สุดเท่าที่เคยพบมา ภารกิจของนายโอบาเร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นการปฏิบัติหน้าที่ครั้งสุดท้ายในฐานะกงสุลใหญ่ฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ในปีเดียวกันนั้นเขาก็ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งเพราะประพฤติตัวเกเรในหน้าที่ เป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ประเทศสยามเดินหน้านโยบายสมานฉันท์กับรัฐบาลฝรั่งเศสเต็มรูปแบบ แต่อีกเพียง 11 เดือน หลังจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสู่สวรรคาลัย
ในปี พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสกรุงปารีส ตามที่ปรากฎในพระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน” ดังความในพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “เดิมกะว่าจะไปซังต์คลูด์ วังนอกเมืองปารีส แต่เห็นอากาศครึ้ม กลัวจะหนาวแลหนังสือยังค้างอยู่มาก จึงได้ทำอยู่เสียจนค่ำ ....” (พระราชหัตถ์ฯ ฉบับที่ 38) และอีกตอนหนึ่งในวันรุ่งขึ้นว่า “ออกจากนั้นขึ้นรถโมเตอร์คาร์ ไปดูซังต์คลูด์ ที่ เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์เข้าเฝ้าเอมเปอเรอ นะโปเลียนที่ 3 เมื่อปีเถาะนพศพ จุลศักราช 1229 มีป๊ากอยู่บนเขา แต่เดี๋ยวนี้น่าสงสารป๊ากแลวังโทรมร้างไปทั้งนั้น น้ำในสระก็เขียว น้ำพุก็ไม่เดิน หญ้าก็แห้งเปนอย่างที่ทิ้งร้าง เพราะเหตุที่วังมากมายหลายแห่งเหลือที่จะรักษาเปลืองเงิน “
และพบว่า ที่ซังต์คลูด์ไม่มีปราสาทให้เห็นอีกแล้ว เพราะถูกเผาทำลายไปนาน 37 ปีก่อนหน้านั้น เมื่อเกิดสงครามฟรังโกปรัสเซีย

ที่มา:
ไกรฤกษ์ นานา. “ภาพมุมกว้างรูปสุดท้ายสมัยรัชกาลที่ 4 กับปริศนาหลังภาพที่ประวัติศาสตร์ลืม,” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 29 ฉบับที่ 5 : มีนาคม 2551 : หน้า 94-113.