หน้าหลัก | พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี | มจธ.
สืบค้นข้อมูล

Title หอธรรมสังเวช หอนิเพทพิทยา และ หออุเทศทักษิณา ที่ตั้งสำหรับตั้งพระศพเจ้านายฝ่ายใน
Object หลังกำแพงแก้ว Call number
Summary หอธรรมสังเวช เป็นที่ตั้งสำหรับตั้งพระศพเจ้านายฝ่ายใน ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ถึง รัชกาลที่ 7 หอธรรมสังเวช ตั้งอยู่นอกกำแพงแก้วพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้านทิศตะวันตก ระหว่างประตูพรหมศรีสวัสดิ์ และประตูศรีสุนทร (ทางด้านซ้ายมือของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้านมุขตะวันตก) เดิมเป็นที่ตั้งของโรงฝึกหัดละครหลวงชาย ซึ่งสร้างไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ครั้นเมื่อถึงรัชสมัย ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้รื้อและสร้างหอเพื่อใช้สำหรับไว้พระศพเจ้านายฝ่ายใน มีนามว่า " หอธรรมสังเวช "

หอธรรมสังเวชนี้เมื่อสร้างเสร็จแล้วเป็นที่ตั้งพระศพเจ้านายฝ่ายในชั้นสูงหลายพระองค์ เช่น สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 4 (ครั้งดำรงพระราชอิสสริยศเป็น พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์) และสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดี ก็ได้ตั้งพระศพที่หอธรรมสังเวชนี้ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรัตน์ ทรงประสบอุบัติเหตุเรือล่ม ใน พ.ศ.2423 ก็โปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระโกศทั้ง 2 พระองค์ไปตั้งที่หอธรรมสังเวชเช่นกัน นอกจากนี้เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ ที่สิ้นพระชนม์ในเขตพระราชฐานชั้นใน ก็ได้เชิญพระศพออกทางประตูพรหมศรีสวัสดิ์ไปตั้งยังหอธรรมสังเวช

หอธรรมสังเวชหลังนี้มีลักษณะเช่นไรไม่ปรากฎหลักฐาน สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ ทรงกล่าวไว้ว่า รื้อลงในรัชกาลที่ 5 แต่นามของหอธรรมสังเวชยังปรากฎอยู่จนถึง พ.ศ.2477 ได้เป็นที่ตั้งพระศพเจ้านายฝ่ายใน อีกหลายพระองค์ คือ พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีศรีรัตนราชธิดา กรมหลวงสมรรัตนสิริเชฐ (พระราชธิดาในรัชกาลที่ 4) พระองค์เจ้าอัพตรีปชา (พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5) ด้วยเหตุนี้จึงสันนิษฐานว่าเมื่อหอธรรมสังเวชได้รื้อไปแล้ว คงจะสร้างอาคารขึ้นใหม่เป็นที่ตั้งพระศพเจ้านายฝ่ายใน ในตำแหน่งที่เดิมและใช้ชื่อเดิมจนถึงปี พ.ศ.2477 แต่ในปัจจุบันอาคารนี้ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เรียกว่า "ศาลาราชการุณย์"

ลักษณะของศาลาราชการุณย์ ที่ปรากฎหลักฐานในปัจจุบันสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในปลายรัชกาลที่ 5 หรือต้นรัชกาลที่ 6 โดยลักษณะอาคารเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กหลังคามุงกระเบื้องว่าว หน้าบันเป็นไม้ ประดับด้วยไม้กลึงที่อกไก่ของหลังคา ศาลาราชการุณย์ เป็นอาคารชั้นเดียวยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร มีมุข 2 มุข ด้านหน้าเป็นเฉลียงยาวตลอดความยาวของอาคาร ด้านในเป็นห้องโถงยาว บริเวณที่ส่วนกลางมีเพดานสูงกว่าส่วนอื่น เป็นที่ตั้งพระโกศพระศพเจ้านายฝ่ายใน พื้นเฉลียงปูด้วยหินขัดลายทแยงมุม สีขาวสลับเหลือง เน้นขอบด้วยสีขาวลายแดงดำเป็นลายเกลียว พื้นห้องเป็นไม้ เพดานไม้แผ่นตีบังใบ บานหน้าต้างประตูเป็นบานไม้ลูกฟักทาสีเขียวเข้ม

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอขึ้นอีก 2 หอ ซึ่งไม่ไกลจากหอธรรมสังเวช มากนัก ซึ่งเรียกว่า หอนิเพทพิทยา และ หออุเทศทักษิณา ซึ่งสันนิษฐานว่าในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นคงจะมีเจ้านายฝ่ายในสิ้นพระชนม์กันหลายพระองค์การที่จะตั้งพระศพที่หอธรรมสังเวชนั้นอาจจะไม่เพียงพอ ซึ่งหอนิเพทพิทยา และ หออุเทศทักษิณา นี้เป็นที่ตั้งพระศพเจ้านายฝ่ายในตลอดจนถึงรัชกาลที่ 7 หอนิเพทพิทยา เคยเป็นที่ตั้งพระศพของ พระองค์เจ้าศศิพงษ์ประไพ ( พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ) และ หออุเทศทักษิณา เคยเป็นที่ตั้งพระศพของ พระองค์เจ้าหญิงบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา (พระราชธิดาในรัชกาลที่ 3) พระองค์เจ้าเยาวภาพงษ์สนิท (พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5)

ในสมัยรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้า ฯ ให้ปรับปรุง หอนิเพทพิทยา และ หออุเทศทักษิณา โดยให้ต่อเฉลียงออกไปให้เท่ากับมุขเดิมที่มีอยู่ คือ ความกว้าง 3 เมตร ความยาว 10 เมตร หลังคามุงกระเบื้องเช่นเดียวกับหลังเดิมปูพื้นและทำฝ้าเพดาน ทั้งชั้นล่างและชั้นบน และแก้ไขเฉลียงให้กว้างขึ้นเพื่อให้ข้าราชการฝ่ายหน้าและฝ่ายในเฝ้า ที่ชั้นบนได้เพียงพอ และเพื่อสามารถให้ตั้งพระศพได้ 2 พระโกษพร้อมๆกัน ในปัจจุบันหอนิเพทพิทยา และ หออุเทศทักษิณา นี้ไม่ได้เป็นที่ตั้งพระศพของเจ้านายฝ้ายในอีกต่อไป

ที่มา :
"หอธรรมสังเวช หอนิเพทพิทยา และ หออุเทศทักษิณา ที่ตั้งสำหรับตั้งพระศพเจ้านายฝ่ายใน," หลังกำแพงแก้ว. URL : http://www.oknation.net/blog/akemeepool/2009/01/10/entry-4, 31 ม.ค.2552