Search




ปี 2526 - 2530
ปี 2526
ปีการศึกษา 2526
เริ่มหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมเคมีในภาควิชาวิศวกรรมเคมี
1 กรกฎาคม 2526
ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย แบ่งส่วนราชการในสถาบัน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2526 ตั้งกองบริการการศึกษาในสำนักงานรองอธิการบดี วิทยาเขตธนบุรี
4 กรกฎาคม 2526
มีการสรรหาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์โดยกระบวนการสรรหาเป็นครั้งแรกของสถาบัน
4 สิงหาคม 2526
ทบวงมหาวิทยาลัยอนุมัติการจัดตั้งภาควิชาครุศาสตร์เครื่องกล ครุศาสตร์ไฟฟ้า และจุลชีววิทยา ในคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์
22 สิงหาคม 2526
สภาสถาบันอนุมัติให้ ศาสตราจารย์ บุญญศักดิ์ ใจจงกิจ ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี และแต่งตั้งให้รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตผลัดกันเป็นผู้รักษาการแทน อธิการบดี คนละ 3 เดือน
6 กันยายน 2526
คณะรัฐมนตรีให้ส่งร่าง พ.ร.บ. สถาบันซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาแล้ว ให้ทบวงมหาวิทยาลัยและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ พิจารณาร่วมกันถึงผลกระทบที่อาจมีต่อมหาวิทยาลัยที่มีหลายวิทยาเขต
1 ตุลาคม 2526
นาย Alan G. Waters ผู้เชี่ยวชาญชาวอังกฤษ มาประจำภาควิชาภาษาและสังคมในตำแหน่ง MA Advisor ภายใต้แผนโคลัมโบ เป็นเวลา 4 ปี
10 พฤศจิกายน 2526
น้ำท่วมใหญ่ทั้งวิทยาเขตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม โรงฝึกงานที่ประสบความเสียหายได้แก่ โยธา 1, อุตสาหกรรมโรง 2 และโรง 3 บุคลากรที่มาทำงานต้องนั่งเรือเข้ามา
20 ธันวาคม 2526
ร้านสหกรณ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ร้านสหกรณ์ สจ.ธ. จำกัด) ได้รับการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ และเริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2527

ปี 2527
11 มกราคม 2527
สถาบันฯ อนุมัติให้ใช้อาคารวิศวกรรมเคมีเป็นที่ตั้งสำนักงานโครงการหลวงอาหารสำเร็จ รูป และโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ รวมทั้งสร้างโรงเก็บผลิตภัณฑ์ของโครงการ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแจ้งว่า ทรงพอพระราชหฤทัยที่ได้รับการสนับสนุนโครงการและความร่วมมือจากสถาบัน
24 มกราคม 2527
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติและทบวงมหาวิทยาลัย เสนอความเห็นร่วมต่อคณะรัฐมนตรีว่า โครงสร้างและระบบบริหารของสถาบันฯ ตามร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติดังกล่าวอีก 2 ครั้ง ในวันที่ 17 เมษายน 2527 และ 24 กรกฎาคม 2527
พฤษภาคม 2527
อาจารย์ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เข้าร่วมเป็นกรรมการนโยบาย กรรมการบริหาร และกรรมการวิชาการ ของศูนย์วิจัยพันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
ปีการศึกษา 2527
เริ่มหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์ประยุกต์ (ภาษาอังกฤษเพื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ในภาควิชาภาษาและสังคม และเริ่มใช้หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ฉบับปรับปรุงใหม่สำหรับนักศึกษาใหม่
26 มิถุนายน 2527
ลงนามในข้อตกลงโครงการวิจัยการเก็บรักษาธัญพืชกับประเทศออสเตรเลีย มูลค่า 51,000 เหรียญ ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี
สิงหาคม 2527
รัฐบาลออสเตรเลียให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งสำนักประสานงานด้านมาตรฐาน อาหารของอาเซียน (ASEAN- CODEX Coordinating Center) และสำนักประสานงานด้านพลังงานของอาเซียน (ASEAN Energy Secretariat) ณ อาคารวิศวกรรมเคมี
11 ตุลาคม 2527
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจ้งว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างพระบรม ราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามที่รองอธิการบดีวิทยาเขตธนบุรีขอพระราชทานพระกรุณาแล้ว
18 ตุลาคม 2527
อาจารย์ประภา ประจักษ์ศุภนิมิต อดีตผู้บริหารท่านแรกของสถาบันรับพระทานปริญญาครุศาสตร์อุตสาหกรรมดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
พฤศจิกายน 2527
เริ่มโครงการวิจัยและพัฒนา เพื่อใช้ประโยชน์ และเพื่อกำจัดน้ำเสียจากโรงงานแป้งมันสำปะหลัง โดยได้รับเงินอุดหนุนจากศูนย์วิจัยพันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ 4 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี
25 ธันวาคม 2527
ลงนามในสัญญาปั้นหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประติมากร ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ พิจารณาการสร้างอนุสาวรีย์ กรมศิลปากร


ปี 2528
2-8 กุมภาพันธ์ 2528
คณะกรรมการเฉพาะกิจซึ่งมีอาจารย์ อุบล จันทกมล เป็นประธานได้จัดงานครบรอบ 25 ปี แห่งการสถาปนาวิทยาเขตธนบุรี เพื่อระดมเงินทุนสนับสนุนโครงการพระบรมราชานุสาวรีย์อย่างเป็นทางการเป็น ครั้งแรก
4 มีนาคม 2528
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา แจ้งว่าได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสถาบันเสร็จแล้ว และได้เสนอไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
16 เมษายน 2528
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พระราชบัญญัติสถาบัน ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วมีการแก้ไขชื่อร่างพระราชบัญญัติและ บันทึกหลักการและเหตุผลบางประการ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนพิจารณาก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรและ วุฒิสภาพิจารณาต่อไป ร่างพระราชบัญญัติสถาบันฯ บรรจุอยู่ในวาระปกติลำดับที่ 141
13 พฤษภาคม 2528
คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้เสนอร่าง พระราชบัญญัติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 ต่อสภาผู้แทนราษฎร
ปีการศึกษา 2528
สภาสถาบันฯ อนุมัติให้คณะพลังงานและวัสดุเปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการ
20 มิถุนายน 2528
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 10/2528 (สมัยสามัญ) ลงมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติสถาบันตามที่เสนอ และตั้งกรรมการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง จำนวน 25 ท่าน เพื่อพิจารณา
11 กรกฎาคม 2528
สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติสถาบันฯในวาระ 2 และ 3 โดยไม่มีผู้คัดค้าน และให้เสนอต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
12 กรกฎาคม 2528
ที่ประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 10/2528 (สมัยสามัญ) มีมติไม่เห็นด้วยกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติสถาบันฯ 51 ต่อ 31 เสียง และงดออกเสียงจำนวนหนึ่ง
25 กรกฎาคม 2528
นายพิชัย พันธวงศ์ เริ่มก่อสร้างแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์
7 สิงหาคม 2528
คณะกรรมการพิจารณาการสร้างอนุสาวรีย์ กรมศิลปากร ตรวจดูหุ่นดินรอบสุดท้าย
1 กันยายน 2528
สมาคมนักศึกษาเก่าจัดโบว์ลิ่งการกุศล เพื่อระดมทุนให้โครงการพระบรมราชานุสาวรีย์
12 กันยายน 2528
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรยกร่างพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ขึ้นพิจารณาใหม่ ก่อนพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2529 ที่ประชุมลงมติให้ยืนยันร่างเดิม จึงถือว่าร่างพระราชบัญญัติได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว
14 กันยายน 2528
อาจารย์นนทฤทธิ์ ศโรภาส และคณะมาทำพิธีบวงสรวงเพื่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

16 กันยายน 2528
นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานวุฒิสภา แจ้งที่ประชุมวุฒิสภารับทราบเรื่องสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันร่างพระราช บัญญัติเดิม มาตรา 129 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมวิทยาลัยเข้าด้วยกัน จึงได้แยกออกเป็นสถาบันอิสระ 3 สถาบัน
18 ตุลาคม 2528
สถาบันทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเคมีอุตสาหกรรม แด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
4 พฤศจิกายน 2528
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรี ย์ และทรงเททองหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลา 09.09 น.
1 ธันวาคม 2528
พิธีอัญเชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งรมดำเรียบร้อยแล้วขึ้นแท่นประดิษฐาน
7 ธันวาคม 2528
อาจารย์นนทฤทธิ์ ศโรภาส และคณะพร้อมด้วยผู้บริหารสถาบัน ทำพิธีบวงสรวง ณ พระบรมราชานุสาวรีย์
9 ธันวาคม 2528
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ เสด็จฯ แทนพระองค์ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปิดงานนิทรรศการเทคโนโลยี ครั้งที่ 5 และทรงเปิดสำนักงานโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป ภายใต้โครงการหลวงและโครงการพระราชดำริ ในความรับผิดชอบของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ปี 2529
20 กุมภาพันธ์ 2529
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นกรมสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 103 ตอนที่ 26 วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2529
20 มีนาคม 2529
สภาสถาบันแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่ออธิการบดี
28 มีนาคม 2529
คณะกรรมการนโยบายสถาบันฯ มีมติให้คณะกรรมการร่างข้อบังคับว่าด้วยการสรรหาผู้บริหาร ดำเนินการร่างข้อบังคับในการสรรหาผู้บริหารตำแหน่งต่าง ๆ
16 พฤษภาคม 2529
ศ.จำรัส ฉายะพงศ์ นายกสภาสถาบัน ประกาศใช้ข้อบังคับสถาบันฯ ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี พ.ศ. 2529 เป็นฉบับแรก
3 มิถุนายน 2529
สภาสถาบันประกาศใช้ข้อบังคับสถาบันฯ ว่าด้วยการสรรหานายกสภาสถาบันและกรรมการสภาสถาบัน พ.ศ. 2529 และแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สถาบัน โดยมี ศ.ประเสริฐ ณ นคร กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานกรรมการ
2 กรกฎาคม 2529
สภาสถาบันประกาศใช้ข้อบังคับสถาบันฯ ว่าด้วย การสรรหาคณบดี พ.ศ. 2529 ต่อมามีการแก้ไขเล็กน้อย
15 กรกฎาคม 2529
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง รศ. ไพบูลย์ หังสพฤกษ์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เมื่อครบวาระท่านก็ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอีกวาระหนึ่งจนถึงปัจจุบัน
16 กรกฎาคม 2529
ประกาศใช้ข้อบังคับสถาบันฯ ว่าด้วย การแต่งตั้งผู้อำนวยการและหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ พ.ศ. 2529 และต่อมาในวันที่ 13 สิงหาคม 2529 ก็ได้ประกาศใช้ข้อบังคับอีกฉบับหนึ่ง ว่าด้วย การสรรหาหัวหน้าภาควิชา พ.ศ. 2529
18 สิงหาคม 2529
เริ่มจัดงานวันวิทยาศาสตร์ไทย ณ สถาบัน ฯ และต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม 2529 ได้ดำเนินการเชิญชวนวางพวงมาลา เนื่องในวาระวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ และจัดต่อ ๆ มาเป็นประเพณีทุกปี
18 ตุลาคม 2529
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ประจำปีการศึกษา 2528 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร
27 ตุลาคม 2529
ประกาศใช้ข้อบังคับสถาบันฯ ว่าด้วยสภาคณาจารย์ พ.ศ. 2529 และได้อาจารย์ปรีชา แก้วทอง ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล เป็นประธานสภาคณาจารย์ท่านแรกตามพระราชบัญญัติสถาบันฯ พ.ศ. 2528 เริ่มปฏิบัติภารกิจตั้งแต่ 30 มกราคม 2530 จนตลอดวาระ 2 ปี
9 พฤศจิกายน 2529
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์ ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ เป็นราชบัณฑิตในประเภทวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สถาบันนำผ้ากฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ พระอารามหลวงวัดโบสถ์ อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
27 พฤศจิกายน 2529
ประกาศใช้ข้อบังคับสถาบันฯ ว่าด้วยการแต่งตั้งหัวหน้าศูนย์และหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชาหรือศูนย์ พ.ศ. 2529



ปี 2530
1 กุมภาพันธ์ 2530
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์จำรัส ฉายะพงศ์ เป็นนายกสภาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พร้อมด้วยกรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ คือ นายทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ นายบุญเยี่ยม มีศุข ศ.ไพรัช ธัชยพงศ์ นายวันชัย ศิริรัตน์ และ ศาสตราจารย์สง่า สรรพศรี
9 กุมภาพันธ์ 2530
รศ. ไพบูลย์ หังสพฤกษ์ อธิการบดี เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพายประถมาภรณ์ช้างเผือก ณ ศาลาดุสิตาลัย สวนจิตรลดา
พฤษภาคม 2530
สถาบันตั้งคณะทำงานส่งเสริมและประสานงานการวิจัยและพัฒนารวมทั้งเริ่มจัดสรร เงินรายได้เป็น “ทุนวิจัยพระจอมเกล้าธนบุรี” เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้มีนักวิจัยใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ตลอดจนกระตุ้นให้นักวิจัยทั้งใหม่และเก่าเสนอโครงการวิจัยที่เป็นประโยชน์ แก่ประเทศชาติ
1 พฤษภาคม 2530
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นเจ้าภาพจัดสัมมนา สภาคณบดีวิศวกรรมศาสตร์ ครั้งที่ 9 โดยมี นายสุบิน ปิ่นขยัน รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เป็นประธาน ณ โรงแรมสวนบวกหาด อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
ปีการศึกษา 2530
- คณะพลังงานและวัสดุ เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต และระดับปริญญาโทสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุ
- ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ รับนักศึกษาเข้าศึกษาเป็นปีแรก
- สถาบันได้ลงนามสัญญาความร่วมมือระหว่างสถาบันฯ กับมหาวิทยาลัยคาสเซล
15 มิถุนายน 2530
รัฐบาลออสเตรเลีย ภายใต้โครงการความร่วมมือของ ASEAN – Australia Microelectronicsได้มอบคอมพิวเตอร์ Sun Workstation 3/110 สำหรับออกแบบวงจรแผงไฟฟ้า (Integrated Circuit) ให้สถาบันติดตั้งใช้งานเป็นเครื่องแรกในประเทศไทย
19 มิถุนายน 2530
ศ. จำรัส ฉายะพงศ์ เปิดศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีรถยนต์ ณ อาคารวิศวกรรมอุตสาหกรรม 5 ด้วยความร่วมมือของบริษัทเดมเลอร์เบ็นซ์ จำกัด ประเทศเยอรมนี และบริษัทธนบุรีพานิช จำกัด มี Mr. Wolat เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์
30 กันยายน 2530
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STDB) มอบทุนสนับสนุนโครงการวิจัย รศ. ดร. พิเชษฐ ลิ้มสุวรรณ เป็นหัวหน้าโครงการและ STDB ยังได้มอบทุนวิจัยโครงการต่าง ๆ อีกหลายโครงการ
18 ตุลาคม 2530
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร
1 พฤศจิกายน 2530
นำผ้ากฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ วัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
17 ธันวาคม 2530
บริษัทซูมิโตโม อิเล็กตริก อินดัสตรีส์ จำกัด มอบอุปกรณ์ระบบสื่อสารข้อมูลด้วยเส้นใยแสงให้สถาบัน เพื่อเริ่มสื่อสารข้อมูลระหว่างส่วนราชการต่างๆ ของสถาบัน