Search



ปี 2531 - 2535
ปี 2531
8 มกราคม 2531
นพ. ณรงค์ นิ่มสกุล ผ่าตัดไฝ โดยใช้เครื่องคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ ซึ่งเป็นผลงานประดิษฐ์ของดร. พิเชษฐ์ ลิ้มสุวรรณ, อาจารย์ดิลก ศรีประไพ และอาจารย์พายับ เรืองแก้ว จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ณ โรงพยาบาล บางกอกเนอสซิ่งโฮม
19 กุมภาพันธ์ 2531
รศ.ดร. ไพบูลย์ หังสพฤกษ์ อธิการบดี ลงนามในสัญญาแปลตำราให้กับศูนย์ฝึกอบรมการประปานครหลวง
11 มีนาคม 2531
กระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครรับจดทะเบียนจัด ตั้ง “มูลนิธิประภา – สมพงษ์” เป็นนิติบุคคล วัตถุประสงค์เพื่อให้ทุนการศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน สนับสนุนการวิจัย หรือให้รางวัลเกียรติยศแก่ผู้สร้างชื่อเสียงและคุณประโยชน์แก่สถาบันและ ประเทศชาติ
5 พฤษภาคม 2531
พระราชกฤษฎีกาให้จัดตั้ง “สำนักห้องสมุดและบรรณสารสนเทศ” ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอนที่ 73 หน้า 136-137 เพื่อให้เป็นองค์กรกลางในการจัดและบริหารงานห้องสมุดและสารนิเทศ และสนับสนุนภารกิจของสถาบันในการจัดการศึกษา สำนักฯ แบ่งส่วนราชการเป็น 4 กอง ได้แก่ สำนักงานผู้อำนวยการ ฝ่ายบรรณสารสนเทศ ฝ่ายบริการห้องสมุด และฝ่ายวารสาร
10-11 พฤษภาคม 2531
ประชุมสัมมนาผู้บริหารสถาบันร่วมกับนักศึกษาเก่าเป็นครั้งแรก เรื่อง “ทิศทางของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีในทศวรรษหน้า (2532-2541)” ณ เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี
30 มิถุนายน 2531
ศาสตราจารย์ จำรัส ฉายะพงศ์ ถึงแก่อนิจกรรม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายบุญเยี่ยม มีศุข เป็นนายกสภาสถาบัน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2531 – 1 กันยายน 2541
10 กรกฎาคม 2531
พระองค์เจ้าภานุพันธ์ ยุคล องคมนตรี ผู้แทนพระองค์ เป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ จำรัส ฉายะพงศ์ ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส
6 สิงหาคม 2531
ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4/2531 มีมติให้เปลี่ยนแปลงชื่อตำแหน่งภาษาอังกฤษ ได้แก่
อธิการบดี President
รองอธิการบดี Vice – President
นายกสภามหาวิทยาลัย Chairman of University Council
ที่ประชุมอธิการบดีฯ The Council of University President of Thailand
12 สิงหาคม 2531
สมาชิกชมรมไฟฟ้าและสโมสรนักศึกษา ได้ออกบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชนเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ร่วมกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
28 กันยายน 2531
รศ.ดร. ไพบูลย์ หังสพฤกษ์ อธิการบดี ลงนามในสัญญาทุนวิจัย Industrial Fish Sauce Fermantation by Recycling System ของ ผศ. สายพิณ ไชยนันทน์ จาก กพวท. (STDB)
17 ตุลาคม 2531
ทบวงมหาวิทยาลัยประกาศแบ่งส่วนราชการในสำนักงานอธิการบดีของสถาบันเป็นกองกลาง กองกิจการนักศึกษา กองบริการการศึกษา และกองแผนงาน ต่อมาในวันที่ 3 มีนาคม 2532 ทบวงฯ ประกาศให้มีศูนย์การศึกษาต่อเนื่องเพิ่มในสำนักงานอธิการบดี
18 ตุลาคม 2531
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาปีการศึกษา 2530 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร
5 พฤศจิกายน 2531
สถาบันนำผ้ากฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

ปี 2532
27 มกราคม 2532
รศ.ดร.ไพบูลย์ หังสพฤกษ์ อธิการบดี ให้สัมภาษณ์คุณศรีพิไล ทองพรหม เนื่องในโอกาสครบรอบ 29 ปีของสถาบัน
1 กุมภาพันธ์ 2532
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายบุญเยี่ยม มีศุข เป็นนายกสภาสถาบัน พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ สง่า สรรพศรี นายทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ นายวันชัย ศิริรัตน์ ศาสตราจารย์ ไพรัช ธัชยพงศ์ และนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ เป็นกรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ
9 กุมภาพันธ์ 2532
พระราชกฤษฎีกาให้จัดตั้ง “ สำนักคอมพิวเตอร์” เพื่อให้เป็นส่วนราชการที่ทำหน้าที่สนับสนุนการศึกษา วิจัยและพัฒนาด้านคอมพิวเตอร์ สำนักคอมพิวเตอร์ แบ่งออกเป็น 4 กอง คือ สำนักงานผู้อำนวยการ ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายพัฒนาระบบ ฝ่ายวิจัยและฝึกอบรม โดยมี ดร. บวร ปภัสราทร เป็นผู้อำนวยการสำนักท่านแรก
ปีการศึกษา 2532
ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และภาควิชาอุตสาหการ เปิดสอนระดับปริญญาโท
7 กันยายน 2532
รศ.ดร. พิเชษฐ ลิ้มสุวรรณ รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น (รางวัลที่ 3) จากผลงานวิจัยเรื่อง "คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ และการประยุกต์ใช้งาน"
18 ตุลาคม 2532
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาปีการศึกษา 2531 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร
4 พฤศจิกายน 2532
สถาบันนำผ้ากฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ วัดศรีอุบลรัตนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
24-26 พฤศจิกายน 2532
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ บรมราชกุมารี ทรงเสด็จเยี่ยมโรงงานหลวง อาหารสำเร็จรูป พร้อมทั้งเยี่ยมชมกิจการของโครงการหลวง อ.แม่จัน จ.เชียงราย อาจารย์บุญเยี่ยม มีศุข นายกสภาสถาบัน, รศ.ดร.ไพบูลย์ หังสพฤกษ์ อธิการบดี และคณะ เฝ้ารับเสด็จ
6 ธันวาคม 2532
กระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร รับจดทะเบียนจัดตั้ง “มูลนิธิเพื่อการพัฒนาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี” เป็นนิติบุคคล เพื่อพัฒนาส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันให้เกิดความก้าวหน้าและ มีประสิทธิภาพสูงทั้งด้านวิชาการและด้านอื่นๆ ในการให้บริการวิชาการแก่สังคม สถาบันได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

ปี 2533
31 มีนาคม - 1 เมษายน 2533
จัดสัมมนาเรื่อง "ทิศทางแผนพัฒนาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ระยะที่ 7" ณ โรงแรมกาลพฤกษ์ จ.สุพรรณบุรี
14 พฤษภาคม 2533
ศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง ร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมเคมี และสายวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ จัดสัมมนานานาชาติเรื่อง "ASEAN - EC Workshop on Biochemical Engineering" ระหว่างวันที่ 14 - 18 พฤษภาคม 2533 โรงแรม เอเซีย
17-18 พฤษภาคม 2533
ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล สจธ. และเครือข่ายวิศวกรรมเครื่องกล จัดสัมมนาทางวิชาการ ทางวิศวกรรมเครื่องกล ครั้งที่ 4 เรี่อง "วิศวกรรมเครี่องกล กับประเทศอุตสาหกรรมใหม่"
27 พฤษภาคม 2533
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน นำนักเรียนนายร้อย จปร. เยี่ยมชมโรงงานหลวง อาหารสำเร็จรูป อ.ระหานทราย จ.บุรีรัมย์ โดยมี รศ.ดร.ไพบูลย์ หังสพฤกษ์ อธิการบดี และคณะ เฝ้ารับเสด็จ
ปีการศึกษา 2533
- ภาควิชาวิศวกรรมเคมี เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาวิศวกรรมอาหาร
- ภาควิชาคณิตศาสตร์ เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์
- คณะพลังงานและวัสดุ เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตและปริญญาโทสาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งแวด ล้อม และหลักสูตรปริญญาเอก สาขาเทคโนโลยีพลังงาน
15 สิงหาคม 2533
- คณะวิทยาศาสตร์ ได้รับการอนุมัติให้แยกออกจากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 107 ตอนที่ 146 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2533 มี ดร.ปรุงจันทร์ วงศ์วิเศษ ได้รับแต่งตั้งเป็นคณบดีท่านแรก
- พระราชกฤษฎีกาให้ จัดตั้ง “สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ” เพื่อเป็นองค์กรกลางในการพัฒนาโรงงานต้นแบบ และจัดฝึกอบรมในด้านการออกแบบการสร้างอุปกรณ์ การติดตั้ง การเดินเครื่องของโรงงาน การซ่อมแซมบำรุงรักษาโรงงาน ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ประกอบด้วย
- สำนักงานอธิการบดี
- คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม
- คณะพลังงานและวัสดุ
- คณะวิทยาศาสตร์
- คณะวิศวกรรมศาสตร์
- สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ
- สำนักคอมพิวเตอร์
- สำนักห้องสมุดและบรรณสารสนเทศ
27 กันยายน 2533
คณะวิทยาศาสตร์ได้รับการอนุมัติแบ่งส่วนราชการตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 107 ตอนที่ 190 ดังนี้
1) สำนักงานคณบดี
2) ภาควิชาคณิตศาสตร์
3) ภาควิชาเคมี
4) ภาควิชาจุลชีววิทยา
5) ภาควิชาฟิสิกส์
6) ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อมาตรฐานและอุตสาหกรรม
11 ตุลาคม 2533
จัดสัมมนาเรื่อง "การกำหนดกรอบ แนวคิด เพื่อการจัดทำแผนแม่บท และแผนปฏิบัติการของสถาบันพัฒนาฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ"
15 ตุลาคม 2533
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ปีการศึกษา 2532 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร
21 พฤศจิกายน 2533
ศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง ร่วมกับภาควิชาครุศาสตร์เทคโนโลยี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม จัดประชุมทางวิชาการเรื่อง "นวัตกรรมการศึกษาใน ทศวรรษใหม่" เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีของสถาบัน ระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2533
27 พฤศจิกายน 2533
ศูนย์การการศึกษาต่อเนื่องร่วมกับคณะพลังงานและวัสดุ และกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน ประชุมนานาชาติเรื่อง "International Conference on Energy and Environment"

ปี 2534
18 มิถุนายน 2534
สภาคณาจารย์จัดอภิปรายเรื่อง "สถาบันออกนอกระบบราชการเป็นอย่างไร" ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย รศ.ดร.ไพบูลย์ หังสพฤกษ์, ผศ. สิริศักดิ์ ปโยธรสิร,ิ คุณปราโมทย์ โชติมงคล, ผศ.ลาวัลย์ ไกรเดช, รศ.ดร.องค์การ อินทรัมพรรย์ โดยมีอาจารย์พนม ภัยหน่าย เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย ณ ห้องประชุม ศาสตราจารย์จำรัส ฉายะพงศ์
10 กรกฏาคม 2534
รศ.ดร.หริส สูตะบุตร, ศ.ดร.ไพรัตน์ ธัชยะพงษ์, ดร.บวร ปภัสราทร และตัวแทนจากภาคเอกชนร่วมแถลงข่าวเปิดตัว หน่วยบริการสารสนเทศธนบุรี (Thonburi Infortech) โดยการสนับสนุนของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กส์ทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
19 กันยายน 2534
- รศ.ดร.หริส สูตะบุตร รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ชี้แจงเรื่อง "มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล" ให้กับบุคลากรของสถาบัน ณ ห้อง ประชุม ศาสตราจารย์จำรัส ฉายะพงษ์
- สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับรางวัลชมเชย รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ จำนวน 2 ผลงาน ได้แก่ ระบบดายเลเซอร์ ของศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อมาตรฐานอุตสาหกรรม (รศ.ดร.วุฑฒิ พันธุมนาวิน และคณะ) และเรือกำจัดผักตบชวา ของภาควิชาวิศวกรรมเครี่องกล (ผศ.จำรูญ ตันติพิศาลกุล และคณะ)
24 ตุลาคม พ.ศ.2534
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดนิทรรศการเทคโนโลยี ครั้งที่ 6 ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันฯ ได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม
- SALC หรือ ศูนย์การเรียนรู้แบบพึ่งตนเอง ของคณะศิลปศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างบรรยากาศในการเรียนภาษาอังกฤษ และภาษาอื่นๆ
29 ตุลาคม พ.ศ.2534
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2533 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร

ปี 2535
9 มกราคม 2535
รศ.ดร.หริส สูตะบุตร รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ชี้แจงเรื่อง มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล แก่ข้าราชการของสถาบัน
ปีการศึกษา 2535
- คณะวิศวกรรมศาสตร์ เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี สาขาวิชาระบบควบคุมและเครื่องมือวัด วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
- คณะพลังงานและวัสดุ เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาเทคโนโลยีอุณหภาพ
3 สิงหาคม 2535
รศ.ดร.พิเชษฐ ลิ้มสุวรรณ และคณะ รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประจำปี 2535 ของสภาวิจัยแห่งชาติ (รางวัลที่ 3) เรื่อง "การสร้างเครื่องสปัตเตอริงแบบแมกนิตรอนรูปทรงกระบอก"
27 ตุลาคม 2535
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2534 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร
3 ธันวาคม 2535
ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการทางวิศวกรรมไฟฟ้า ครั้งที่ 15
24 ธันวาคม 2535
สภามหาวิทยาลัยฯ อนุมัติให้จัดตั้ง สำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวท.) และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2540