Search


การถวายฎีการ้องทุกข์และการเลือกตระลาการ

พระองค์ได้ทรงเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมในการถวายฎีการ้องทุกข์ เนื่องจากราษฎรไม่ได้รับความเป็นธรรม และบางครั้งล่าช้า จึงทรงอนุญาตให้สิทธิราษฎร ถวายฎีการ้องทุกข์ต่อพระองค์ได้โดยตรง ทุกคนสามารถถวายฎีกาต่อพระเจ้าแผ่นดินได้โดยไม่ต้องผ่านขุนนางผู้ใหญ่ และไม่ต้องถูกโบยก่อน พระองค์จะเสด็จ ออกรับฎีการ้องทุกข์ทุกวันโกน และในกรณีที่ผู้ร้องทุกข์ไม่สามารถมาถวายฎีกาด้วยตนเองได้ เนื่องจากถูกจองจำ ก็ทรงอนุญาตให้พี่น้อง มูลนาย หรือนายประกัน ถวายฎีการ้องทุกข์แทนได้ สำหรับการเขียนคำร้องจะเขียนด้วยตนเองหรือให้ผู้อื่นเขียนให้ก็ได้ ขอแต่อย่าเขียนเยิ่นเย้อไม่ได้ใจความ

การถวายฎีการ้องทุกข์นี้ ผู้ร้องสามารถกล่าวโทษได้แม้จะเป็น เจ้านาย ขุนนาง ที่ใกล้ชิดกับพระองค์ เช่น ราษฏรเมืองระยองได้ถวายฎีกา กล่าวโทษผู้สำเร็จราชการ โดยพระองค์จะทรงแต่งตั้งให้คณะตระลาการ (ตุลาการ) ตัดสินหรือชำระความให้อย่างยุติธรรม สำหรับผู้ถวายฎีกาทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินคนละสลึง เป็นบำเหน็จก่อน เมื่อชนะความตามเรื่องราวในฎีกาแล้ว จะพระราชทานเงินเพิ่มให้ อีกสลึงหนึ่งเป็นรางวัล และผู้ถวายฎีกาหน้าพระที่นั่งจะทรงพระราชทานเงินคนละสองสลึงทุกคน เป็นค่ากระดาษ ดินสอ และค่าจ้างเขียน
(ประกาศเลขที่ 81, 128)


ผู้ต้องโทษหนักถูกจำตรวน (ภาพจากหนังสือ สมุดภาพเมืองไทย เล่ม2. ม.ป.ป. หน้า 31)

ในการพิจารณาคดีความนั้น บางครั้งมีการถวายฎีกากล่าวโทษตระลาการว่าไม่เที่ยงธรรม ดังนั้นเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในการพิพากษาความ จึงทรงมีประกาศให้แต่งตั้งเลือกสภาตระลาการที่ลูกความไม่รังเกียจ (ประกาศเลขที่ 298) ซึ่งแสดงว่าลูกความมีสิทธิในการเลือกตระลาการที่ตนเห็นชอบ ว่ามีความยุติธรรม และในกรณีที่ลูกความมีความเห็นว่าไม่ได้รับความยุติธรรม สามารถมาร้องเรียนต่อพระองค์ได้