Search


การแสดงความคิดเห็นและรับรู้ข่าวสาร


เมื่อนายแพทย์แดนบีช บรัดเลย์ ได้นำเครื่องพิมพ์ตัวอักษรไทยเข้ามา และได้ออกหนังสือบางกอก รีคอร์เดอร์ ซึ่งนอกจากการเผยแพร่ศาสนา ความรู้ ได้ให้โอกาสราษฎรแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์บ้านเมือง แม้แต่พระเจ้าแผ่นดิน ก็ทรงถูกวิพากษ์วิจารณ์ จนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกประกาศเตือนไม่ให้ประชาชนเชื่อข้อมูลที่มีผู้นำไปเขียนลงในหนังสือบางกอกรีคอร์เดอร์ และทรงอนุญาตให้ประชาชนทูลถามเรื่องข่าวลือได้ (ประกาศเลขที่ 333, 335) แสดงว่าราษฎรมีสิทธิแสดงความคิดเห็น

ต่อมาทรงโปรดให้คิดพิกัดภาษีอากรทั้งปวง ตีพิมพ์แจกไปทุกแขวง ทุกตำบล ให้ราษฎรทั้งปวงรู้ทั่วกัน (ประกาศเลขที่ 56, 180) เพื่อป้องกันการ เอารัดเอาเปรียบจากเจ้าขุนมูลนาย (ประกาศเลขที่ 94) และหากราษฎรเดือนร้อน มีสิทธิฟ้องร้องได้ (ประกาศเลขที่ 143) การประกาศเพื่อ บอก กล่าว ตักเตือนราษฎร และการตีพิมพ์หนังสือราชกิจจานุเบกษาแจกแก่ราษฎร สำหรับค้นดูข้อราชการต่าง ๆ (ประกาศเลขที่ 116) แสดงว่าราษฎรมีสิทธิรับรู้ข่าวสาร

การเข้าเฝ้า


ในการเสด็จประพาสหัวเมืองนั้น ทรงพระกรุณาให้ราษฎรเข้าเฝ้าเพื่อชมพระบารมี และทรงเปิดโอกาสให้ราษฎรกราบบังคมทูลเรื่องราวต่าง ๆ นอกจากนี้ ทรงอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่รับเสด็จ ถวายการเคารพตามประเพณีได้ดังประกาศ

อย่าให้กรมเมือง นายอำเภอแลกรมไพร่หลวงที่ไปนั่งกอง
จุกช่องล้อมวงไล่ชาวบ้านไปไกลเลย อย่าให้ข้าราชการในกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน และกรมเมือง นายอำเภอ นั่งกองจุกล้อมวง และราษฎรชาวบ้านที่ออกมานั่งคอยเฝ้ารับเสด็จ ห้ามปรามว่ากล่าวขึ้นใจคนนอกประเทศ ซึ่งพอใจจะเคารพรับเสด็จตามจารีต ของตนนั้น (ประกาศเลขที่ 108)

ด้วยพระวิสัยทัศน์อันก้าวไกลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามจึงดำรงเอกราชของตนไว้ได้ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจตะวันตก กำลังแข่งขันกันแสวงหาอาณานิคม