Summary |
ศ.ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนการวิจัย เป็นประธานการประชุมและประกาศผลการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2553 ณ โรงแรมเอเชีย พร้อมกันนี้ได้ร่วมบรรยายเรื่อง GOOD GOVERNANCE & PERFORMANCE OF RESEARCH IN THAI UNIVERSITIES
ผศ.วุฒิพงศ์ เตชะดำรงสิน รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า วิธีการและผลการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยนั้น สกว. กำหนดให้ใช้สาขาวิชาเป็นหน่วยประเมิน เนื่องจากมีความแม่นยำ และหากนำผลหลายสาขาวิชามารวมกันก็จะได้ผลระดับคณะวิชาและมหาวิทยาลัยตามลำดับ โดยขณะนี้ได้ประเมินสาขาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก่อน รวมสาขาวิชาที่จะประเมินทั้งสิ้น 34 สาขาวิชา จัดเป็น 6 กลุ่มสาขา ดังนี้
1. กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์ (ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ สถิติ คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ โลกและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม)
2. กลุ่มสาขาวิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมเหมืองแร่และวัสดุ)
3. กลุ่มสาขาเกษตรศาสตร์ (เกษตร ประมง ป่าไม้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร สัตวบาล / สัตวแพทยศาสตร์)
4. กลุ่มสาขาเทคโนโลยี (เทคโนโลยีพลังงาน เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ICT / วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุ เทคโนโลยีการจัดการ เทคโนโลยีชีวภาพ)
5. กลุ่มสาขาแพทยศาสตร์ (สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ศัลยศาสตร์ อายุรศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์ แพทย์สาขาอื่นๆ) และ
6. กลุ่มสาขาอื่นๆ (พรีคลินิก ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ / สหเวชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์)
จาก 34 สาขาที่มีการประเมิน มีหน่วยงานที่เข้าร่วมมากถึง 436 หน่วย จากมหาวิทยาลัย 36 แห่ง ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน รวมทั้งมหาวิทยาลัยนานาชาติ และสถาบันที่ผลิตปริญญาโทและปริญญาเอก โดยการประเมินครั้งนี้เป็นการประเมินงานวิจัยเชิงวิชาการ (academic / basic research) ดังนั้นข้อมูลที่ใช้ประเมิน คือ บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทั้งระดับนานาชาติและระดับชาติ และ Proceedings ระดับนานาชาติและระดับชาติ โดยมีการถ่วงน้ำหนักไม่เท่ากัน ตั้งแต่ระดับสูงสุด คือ วารสารวิชาการนานาชาติ ซึ่งให้น้ำหนักเป็น 1 จนถึง Proceedings ระดับชาติ ซึ่งให้น้ำหนักน้อยที่สุดเป็น 1/8 นอกจากนี้ ในการประเมินครั้งนี้ยอมรับสิทธิบัตรด้วย โดยใช้น้ำหนักตั้งแต่ 1 สำหรับสิทธิบัตรที่จดระดับนานาชาติ จนถึงอนุสิทธิบัตรซึ่งให้น้ำหนักเป็น 1/4
ในการประเมินจะป้อนข้อมูลเป็นรายบทความ มีข้อมูลระบุประเภทของวารสาร และสัดส่วนผลงานในบทความนั้นของหน่วยงานที่เข้าร่วมประเมินด้วย ทำให้ได้ปริมาณงานของหน่วยงานที่เข้ารับการประเมินอย่างแท้จริง ผลการประเมินจะได้ค่าตามตัวชี้วัดทั้ง 4 ตัว ซึ่งค่าแต่ละตัวชี้วัดของแต่ละสาขาวิชาจะนำมาเรียงจากสูงถึงต่ำ และตัดเกรดเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ระดับ 5 = ดีเยี่ยม ระดับ 4 = ดี ระดับ 3 = ปานกลาง ระดับ 2 = ควรปรับปรุง ระดับ 1 = ควรปรับปรุงโดยด่วน ทั้งนี้ ค่าที่ได้ หรือ rating ของแต่ละตัวชี้วัดจะนำมารวมกันโดยถ่วงน้ำหนัก 30 : 20 : 30 : 20 ค่าที่ได้เรียกว่า TRF Index ซึ่งจะมีการแปลงเป็น rating 1-5 อีกทีหนึ่ง
ในโอกาสนี้ สกว. ได้ประกาศผลการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยใน 3 กลุ่มสาขาวิชาและมอบเกียรติบัตรแก่สถาบันอุดมศึกษาที่มีคะแนนระดับดีเยี่ยม (ระดับ 5) สูงสุดของกลุ่มสาขา ดังนี้ 1. กลุ่มสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2. กลุ่มสาขาเกษตรศาสตร์ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ 3. กลุ่มสาขาเทคโนโลยี ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดย ศ.ดร.ปรีดาเป็นผู้มอบเกียรติบัตรแก่ผู้บริหารของทั้ง 3 มหาวิทยาลัย ส่วนอีก 3 กลุ่มสาขาที่เหลือ สกว. จะประกาศผลการประเมินต่อไป
รศ.ดร.ไกรวุฒิ เกียรติโกมล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า การใช้สาขาวิชาเป็นหน่วยประเมินคุณภาพผลงานผลงานวิจัยฯ ของ สกว. นับว่าตรงกับความต้องการและข้อเท็จจริง สามารถใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาสถาบัน และให้นักศึกษาเลือกเรียนได้ชัดเจนขึ้น ทั้งนี้การประเมินคุณภาพระดับคณะหรือมหาวิทยาลัยอาจไม่ครอบคลุม บอกได้เฉพาะภาพรวม เพราะความเข้มแข็งของสาขาวิชานั้นขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการก่อตั้งและความพร้อมของหน่วยงาน
อธิการบดี มจธ. กล่าวต่อว่า งานวิจัยของประเทศไทยยังต้องพัฒนาอีกมาก แข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการสนับสนุนจากรัฐบาลมีน้อย การวิจัยต้องมีนโยบายที่ชัดเจน มีเงิน และมีหัวข้อวิจัย มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ถูกละเลยเรื่องการค้นคว้าวิจัยพอสมควร ดังนั้นรัฐบาลจะต้องสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่องในระยะยาว แต่นักการเมืองไทยมักไม่ค่อยให้ความสำคัญเพราะเห็นผลช้า ขณะที่การสนับสนุนจากภาคเอกชนในปัจจุบันแม้จะมีมากขึ้น แต่ก็มุ่งเน้นที่การแก้ปัญหา ตนคิดว่างานวิจัยที่จะไปข้างหน้าเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ในต่างประเทศนั้นเอกชนรายใหญ่จะลงทุนกับการวิจัยเพื่อเตรียมผลิตภัณฑ์ แต่ประเทศไทยเน้นงานวิจัยพื้นฐานเพื่อรองรับเทคโนโลยีในอนาคต
“ในส่วนของ มจธ. นั้น เรามีวิสัยทัศน์เรื่องการเป็นมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว โดยให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ให้นักวิจัยมีความเป็นอยู่สบาย มีรายได้ที่เพียงพอ หาสิ่งอำนวยความสะดวก สร้างสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศที่ดี เพื่อเลี้ยงคนเก่งอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หัวข้อวิจัยก็พยายามทำให้เป็นกลุ่มวิจัยข้ามสาขาเพราะงานวิจัยมีความซับซ้อนมากขึ้น ที่สำคัญคือเงินทุน ซึ่งเราพยายามหาทุนสนับสนุนให้มากขึ้น แต่วงเงินก็ยังไม่มากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ รัฐบาลต้องทุ่มเทให้มากกว่านี้มิฉะนั้นเราจะล้าหลัง” รศ.ดร.ไกรวุฒิสรุป
ที่มา : http://www2.kmutt.ac.th/news/newsdetail.aspx?ref=201005000363, 5 มีนาคม 2553 |