Search

วิวัฒนาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

เหตุการณ์ก่อนปี 2503
ปี 2500
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ฯพณฯ ม.ล.ปิ่น มาลากุล และอาจารย์สนั่น สุมิตร อธิบดีกรมอาชีวศึกษาได้ร่วมปรึกษาการผลิตผู้ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างวิศวกรและ Skill Labours โดยมีนโยบายรับนักเรียนจบชั้นมัธยม 3 เรียนต่อวิชาช่างอุตสาหกรรม 3 ปี ได้วุฒิ ปว.ช. แล้วออกทำงานหรือศึกษาต่อในวิทยาลัยเทคนิคอีก 3 ปี ได้วุฒิ ปว.ส.

ปี 2501
อธิบดีสนั่น สุมิตร สำรวจหาที่ตั้งวิทยาลัยแห่งใหม่ พบที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ณ ตำบลบางมด อำเภอราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการขอเช่าไว้ 32 ไร่ เพื่อตั้งโรงเรียนพาณิชยการ ธนบุรี และได้ดำเนินการปลูกสร้างอาคารเรียนไม้สองชั้นแบบมาตรฐาน 14 ห้องเรียน เสร็จเรียบร้อย ตั้งแต่ พ.ศ. 2501 พร้อมทั้งบ้านพักครูใหญ่ และโรงอาหาร อีกครึ่งหลัง ได้ถูกทิ้งว่างไว้ แม้จะยังไม่มีถนน ไฟฟ้า น้ำประปา และโทรศัพท์ ก็ยังมีอาคารพร้อมที่จะให้ใช้ได้ทันทีจึงเสนอสถานที่นี้เป็นที่ตั้งวิทยาลัยแห่งใหม่ ให้ชื่อว่า “ วิทยาลัยเทคนิค ธนบุรี ”

ปี 2503 - 2505
ปี 2503
4 กุมภาพันธ์ 2503
- กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศตั้งวิทยาลัยเทคนิคธนบุรี สังกัดกองวิทยาลัยเทคนิค กรมอาชีวศึกษา รับผู้จบเตรียมอุดมศึกษา สายวิทยาศาสตร์ ศึกษาต่อ 3 ปี ได้วุฒิ ปว.ส. นับเป็นวิทยาลัยเทคนิค แห่งแรกในประเทศไทย ที่รับผลิตช่างเทคนิคจากผู้จบชั้นสูงสุดสายสามัญ
- กรมอาชีวศึกษาแต่งตั้ง นายประภา ประจักษ์ศุภนิติ อาจารย์เอก หัวหน้าฝ่ายวิชาช่างก่อสร้าง คณะวิชาเทคนิค จากวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคธนบุรี พร้อมทั้งอนุมัติให้อาจารย์จากวิทยาลัยเดียวกันมาร่วมงาน อีก ๖ ท่าน คือ นายสมพงษ์ ปัญญาสุข นางสาวอุบล จันทกมล นายอุทัย แก้วช่วง นายสุธรรม ทวิชศรี นายทนง รุ่งโรจน์ดี และนายอิทธิศักดิ์ ทองคำ วันที่อาจารย์ทั้ง 7 ท่าน มาทำพิธีเปิดวิทยาลัยฯ ได้อาศัยยานพาหนะคู่อาชีพคือ เรือจ้าง ผู้อำนวยการ ได้พยายามขอร้อง นายอดิเรก ศรีศุภผล นายอำเภอราษฎร์บูรณะ ในขณะนั้นให้ช่วยเร่งรัดการตัดถนนเข้าสู่วิทยาลัยฯ ให้เสร็จทันเปิดภาคเรียน
เมษายน 2503
วิทยาลัยฯ เปิดรับสมัครและสอบคัดเลือกนักศึกษารุ่นแรก ระหว่างวันที่ 1-8 เมษายน โดยเปิดรับสมัคร ณ วิทยาลัยเทคนิค กรุงเทพฯ นอกจากติดประกาศโฆษณาเป็นหนังสือราชการแล้ว วิทยาลัยฯ ยังได้เสนอกรมฯ ให้ออกประกาศระเบียบการต่างๆ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุศึกษา เพื่อให้ผู้สนใจ เข้าศึกษาในวิทยาลัยเทคนิค ธนบุรี ได้ทราบโดยทั่วถึงยิ่งขึ้น มีผู้สมัคร 619 ราย เป็นชาย 609 หญิง 10 มาเข้าสอบ 587 สอบได้ 300 สำรอง 60 คน ในจำนวนผู้สอบได้มีผู้มารายงานตัวและขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาเพียง 122 คน
17 พฤษภาคม 2503
- วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี เปิดภาคเรียนปีการศึกษาแรก
- นายสมพงษ์ ปัญญาสุข ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการ มีบุคลากรในตำแหน่งอาจารย์และครู รวม 29 คน (นับถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2504) นักการภารโรง 4 คน
- นายระพี พฤกษะวัน หัวหน้าชั้นห้อง ก ได้รับเลือกเป็นประธานสภานักศึกษาคนแรก
29 พฤษภาคม 2503
วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี ได้เข้าร่วมพัฒนาการท้องถิ่นในถนนประชาอุทิศ ที่หลักกิโลเมตรที่ 9 จากถนนสุขสวัสดิ์ ตำบลราษฎร์บูรณะไปถึงโรงเรียนวิทยาลัยเทคนิคธนบุรีที่สร้างใหม่ โดยลงหินลูกรัง เป็นระยะทางยาวประมาณ 2,320 เมตร

10 มิถุนายน 2503
วิทยาลัยฯ ยืด กำหนดเวลามอบตัวออกไปถึง 10 มิถุนายน มีนักศึกษามามอบตัวเพิ่มขึ้นเป็น 168 คน วิทยาลัยฯ จึงขอยืดเวลาออกไปอีก 1 สัปดาห์ มีนักศึกษาเพิ่มขึ้นเป็น 219 คน และมีการลาออกบ้าง วิทยาลัยฯ จึงประกาศสอบคัดเลือกครั้งที่ 2 เพื่อให้ได้นักศึกษาเต็มจำนวนที่จะรับได้ ปรากฏว่ามีผู้สมัคร 142 คน เข้าสอบ 138 สอบได้ 95 มาขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา 90 คน เมื่อเริ่มดำเนินการสอนเป็นปรกติ นักศึกษารุ่นแรกประกอบด้วยผู้สอบคัดเลือกได้ 299 คน เป็นนักศึกษาหญิง 1 คน คือ น.ส.สุนันทา ป้อมเอี่ยม นักศึกษาฝากเรียนจากกรมอาชีวศึกษา 1 คน และนักศึกษาพ้นสภาพจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4 คน รวมทั้งสิ้น 304 คน

การจัดการเรียนการสอน วิทยาลัยฯ แบ่งนักศึกษาออกเป็น 6 ห้อง ใช้หลักสูตรรวมแบบอุตสาหกรรมศิลป์ (Industrial Arts) ปีแรกให้เรียนเหมือนกันทุกวิชา ได้แก่ วิชาช่างก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ ช่างโลหะ และเขียนแบบ เฉลี่ยเวลาเรียนตลอดปีออกเป็น 5 ส่วนเท่าๆ กัน คิดเป็น 160 ชั่วโมงต่อวิชา รวม 5 วิชานี้เป็นเวลา 800 ชั่วโมง ส่วนเวลาที่เหลืออีก 400 ชั่วโมงนั้น ได้จัดให้ศึกษาวิชาสามัญ และสัมพันธ์กับการช่างอีก 6 วิชา คือ ภาษาอังกฤษ จิตวิทยา คณิตศาสตร์ เคมี ฟิสิคส์ และเศรษฐศาสตร์ การเรียนแบ่งออกเป็น 3 เทอม เริ่มเรียน 9.00 น. เลิกเรียน 16.00 น.

อาคารไม้ถูกใช้เป็นอาคารเอนกประสงค์คือห้องเรียน ห้องทำงานอาจารย์ ห้องเก็บครุภัณฑ์ ห้องเขียนแบบ และห้องฝึกงานชั่วคราว ฯลฯ โรงอาหารก็ใช้เป็นห้องปฏิบัติงานด้วย การฝึกงานภาคปฏิบัตินั้น นอกจากจะปฏิบัติในห้องฝึกงานแล้ว นักศึกษายังต้องปฏิบัตินอกห้องด้วย เริ่มตั้งแต่ช่วยพัฒนาการถนนประชาอุทิศ และบูรณะสะพานไม้ตามคำเชิญ ของนายอำเภอราษฎร์บูรณะ ทำถนนภายในวิทยาลัย, ต่อเติมและสร้างบ้านพักอาจารย์, เดินสายไฟ, สร้างครุภัณฑ์บางอย่าง, ปรับพื้นที่ทำสนามกีฬาชั่วคราว, พัฒนาวัดสารอด, ฯลฯ เป็นต้น นับว่าเป็นประสบการณ์ในการศึกษาภาคปฏิบัติที่อำนวยประโยชน์แก่ท้องถิ่นในระยะบุกเบิก
24 มิถุนายน 2503
อนุมัติสร้างโรงอาหารชั่วคราวของวิทยาลัย เนื้อที่ 144 ตารางเมตร
7 กรกฎาคม 2503
จัดงานไหว้ครู พิธีไหว้ครูครั้งแรก
สิงหาคม 2503
อนุมัติให้ติดตั้งโทรศัพท์ประจำวิทยาลัยเทคนิคธนบุรีเป็นครั้งแรก
12 กันยายน 2503
อธิบดีสนั่น สุมิตร ได้นำ Mr. Stanley Nelson ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคของ UNESCO ได้มาสำรวจภาวการณ์ของวิทยาลัยฯ ระหว่างวันที่ 12-15 กันยายน 2503 และได้แนะนำให้วิทยาลัยฯ จัดทำหลักสูตรใหม่ โดยให้แยกเรียนเป็นสาขาๆ ไปตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 และได้ช่วยวิทยาลัยทำเรื่องราวขอความช่วยเหลือ (Request for Special Fund) ตามระเบียบขององค์การสหประชาชาติด้วย การก่อสร้าง ซ่อมแซม บูรณะ ตกแต่ง และปรับปรุงอาคารสถานที่ภายในบริเวณวิทยาลัยที่ดำเนินการในปีแรกนี้ ได้แก่
1. สร้างโรงฝึกงานช่างยนต์และช่างโลหะ บ้านพักครูห้องน้ำ ห้องส้วม 1.910.000 บาท
2. ต่อท่อประปา เข้าสู่บริเวณวิทยาลัยฯ และอาคารต่างๆ 14,865.80 บาท
3. สร้างรั้วกั้นอาณาเขตบริเวณวิทยาลัยฯ ยาวประมาณ 1,360 เมตร 40,786 บาท
4. สร้างโรงอาหารชั่วคราว 2,880 บาท
5. ซื้อดินลูกรังและหินผุทำถนนในบริเวณวิทยาลัยฯ 18,155 บาท
6. ปรับปรุงบ้านพักผู้อำนวยการ 5,440 บาท
7. ติดตั้งสายไฟฟ้าภายในบริเวณวิทยาลัยฯ 4,960 บาท
8. ทำลานคอนกรีตและทางเท้าเชื่อมอาคารเรียนกับโรงอาหาร 32,000 บาท

การคมนาคม และการขนส่งเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่งที่กระทบกระเทือนความก้าวหน้า และความสำเร็จของงานตามที่ได้ตั้งความมุ่งหมายไว้ ถนนประชาอุทิศเป็นถนนดินเหนียว รถประจำทางก็ยังไม่มีวิทยาลัยฯ ได้ติดต่อบริษัทธนนครขนส่ง จำกัด ให้ช่วยจัดรถรับส่งเฉพาะเช้าและเย็นระหว่างเปิดเรียน พอถึงฤดูฝนถนนชำรุดทรุดโทรมมาก รถเข้าไม่ได้ทั้งอาจารย์ และนักศึกษาก็ต้องเดิน จะอาศัยเรือจ้างได้บ้างเฉพาะเวลาน้ำขึ้นแต่เสียเวลาเดินทางมากขอร้องทางจังหวัดธนบุรีให้ทำถนนให้วิทยาลัยฯ ก็ต้องออกเงินซื้อดินลูกรังมาทำถนนในปีการศึกษาแรกนี้เป็นเงิน 114,150 บาท และยังต้องลงแรงช่วยกันทำถนนอีกด้วย สภาพถนนเช่นนี้เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการเดินทางของนักศึกษาและอาจารย์ ตลอดจนการขนส่งวัสดุและอุปกรณ์การสร้าง รวมทั้งวัสดุฝึกหัดที่จัดซื้อมาเพื่อการศึกษา
พฤศจิกายน 2503
วิทยาลัยได้รับการอนุเคราะห์รถยนต์พลีมัท (ชำรุด) 1 คัน จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มาเป็นอุปกรณ์การสอนเกี่ยวกับเครื่องยนต์ในหลักสูตรการสอนวิชาช่างเครื่องยนต์


ปี 2504
4 มีนาคม 2504
ได้รับอนุมัติให้ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลพระประแดงการช่างขุดบ่อน้ำบาดาล
10 เมษายน 2505
ได้รับอนุมัติก่อสร้างประตูทางเข้าและซุ้มยาม

พฤษภาคม 2504
กระทรวงศึกษาธิการอนุมัติให้ใช้หลักสูตรใหม่ แบ่งออกเป็น 4 ฝ่ายวิชา ได้แก่ ช่างก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ และช่างโลหะ แยกกันเรียนตามสาขาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ศึกษาครบตามหลักสูตร 3 ปี จะได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงสาขานั้นๆ สำหรับนักศึกษาเก่า วิทยาลัยฯ ได้ให้ยื่นความจำนงเลือกสาขาที่จะเรียนและวิทยาลัยฯ พิจารณาคะแนนรายวิชาประกอบด้วย

วิทยาลัย ประกาศรับสมัครนักศึกษาใหม่ประจำปี 2504 ยังคงปฏิบัติเหมือนปีแรก แต่ย้ายสถานที่รับสมัครและสอบคัดเลือกไปที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย มีผู้สมัครเป็นชาย 546 หญิง 14 สอบได้ 219 สำรอง 29 มารายงานตัวเพียง 149 คน วิทยาลัยฯ ยืดเวลารายงานตัวออกไปและเรียกตัวสำรองมาด้วย ได้นักศึกษาเพิ่มขึ้นเป็น 190 คน วิทยาลัยฯ จึงประกาศรับเพิ่มเติมจากผู้ที่เข้าสอบคัดเลือกโดยถือตามคะแนนรองๆ ลงไป ได้นักศึกษาเพิ่มขึ้นเป็น 208 คน เปิดโอกาสให้มอบตัวซ่อมอีก 1 วัน จึงได้นักศึกษารวม 213 คน เมื่อรวมกับนักศึกษาเก่าที่ตกค้าง และยังสมัครใจเรียนต่ออีก 76 คน จำนวนนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จึงเป็น 289 คน ส่วนนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ที่ยังสมัครใจเรียนต่อเหลือเพียง 158 คน

ปี 2505
มกราคม 2505
- ท่านอธิบดีสนั่น สุมิตร ย้ายไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิสามัญศึกษา อาจารย์พงศ์ศักดิ์ วรสุนทรโรสถ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเป็นอธิบดีกรมอาชีวศึกษาแทน
- วิทยาลัยเริ่มใช้วิธีสอบคัดเลือกรวมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ โดยมีสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการ
- ส่วนโครงการขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศที่ท่านอธิบดีสนั่น ได้ริเริ่มไว้ ใกล้จะสัมฤทธิผลแล้ว วิทยาลัยฯ ได้รับงบประมาณสร้างโรงฝึกงานช่างก่อสร้าง และต่อเติมโรงฝึกงานช่างโลหะ
ฤดูฝน 2505
ฝนตกหนักกว่าปีก่อนๆ ถนนสายเดียวที่จำเป็นต้องใช้ ยิ่งทรุดโทรมมากขึ้นจนยวดยานสัญจรไม่ได้ นักศึกษา อาจารย์ ต้องเดินย่ำโคลนเข้าออกเป็นระยะทางวันละไม่น้อยกว่า 5 ก.ม. จึงขาดเรียนเป็นจำนวนมาก จากสถิติที่บันทึกไว้ปรากฏว่า
25 กันยายน ขาดเรียน 117 คน
26 กันยายน ขาดเรียน 106 คน
27 กันยายน ขาดเรียน 48 คน
28 กันยายน ขาดเรียน 34 คน
29 กันยายน ขาดเรียน 32 คน
3 ตุลาคม ขาดเรียน 56 คน
4 ตุลาคม ขาดเรียน 57 คน
5 ตุลาคม ขาดเรียน 95 คน
6 ตุลาคม ขาดเรียน 349 คน
9 ตุลาคม 2505
นักศึกษาไม่มาวิทยาลัยฯ แต่พากันไปหา ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ฯพณฯ ได้ให้กรมโยธาธิการมาตรวจดูสภาพถนนและให้จัดการซ่อมให้พอใช้ได้ไปก่อน พอหมดฝน ถนนแห้งแล้ว กรมโยธาฯ จึงจัดรถมาปรับแต่งและบดถนนใหม่ การได้พบท่านนายกฯ ครั้งนั้นยังผลให้พวกเราได้มีถนนลาดยางใช้มาจนทุกวันนี้

19 ธันวาคม 2505
กองทุนพิเศษแห่งสหประชาชาติ (UNDP Special Fund) โครงการที่ 1 (ชื่อโครงการ Thonburi Technical Institute Project SF. THA. 7 : มีกำหนดเวลา 5 ปี) ลักษณะของการช่วยเหลือ แบ่งออกเป็น อุปกรณ์การศึกษา ผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการ 6 คน และทุนการศึกษา เพิ่มเติม 11 ทุน รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,146,957 เหรียญอเมริกัน ทั้งนี้รัฐบาลไทยต้องจัดงบประมาณสมทบอีกส่วนหนึ่งด้วย หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญคนแรกคือ Mr. R.G.P.S. Fairbairn ชาวอังกฤษ
คณะผู้เชี่ยวชาญชุดแรก ประกอบด้วย
Mr. D. Picken ผู้เชี่ยวชาญช่างไฟฟ้ากำลัง
(เริ่มทำงานตั้งแต่ 8 ตุลาคม 2505-3 กันยายน 2506)
Dr. N.S. Rajan ผู้เชี่ยวชาญวิสามัญ
Mr. H. Bange ผู้เชี่ยวชาญช่างก่อสร้าง
Mr. S.J. Martin ผู้เชี่ยวชาญช่างโลหะ
Mr. K. Stephen ผู้เชี่ยวชาญช่างไฟฟ้ากำลัง

เมื่อผู้เชี่ยวชาญชุดแรกครบวาระ และหัวหน้าผู้เชี่ยวชาญครบเกษียณอายุ Dr. N.S. Rajan ได้เป็นหัวหน้าผู้เชี่ยวชาญคนต่อมา และมีผู้เชี่ยวชาญคนใหม่คือ
Mr. H. Hansen ผู้เชี่ยวชาญช่างยนต์
Mr. I. Davies ผู้เชี่ยวชาญช่างโลหะ
Mr. L. Dellenborg ผู้เชี่ยวชาญช่างก่อสร้าง
Dr. Tha Hla ผู้เชี่ยวชาญวิชาสามัญ
Mr. R.D. Drury ผู้เชื่ยวชาญช่างไฟฟ้ากำลัง

อาจารย์ของวิทยาลัยฯ ที่ได้รับทุนการศึกษา และฝึกอบรมต่างประเทศชุดแรก คือ
1. นายอุทัย แก้วช่าง ไปประเทศอังกฤษ
2. นายเจริญ วัฏฏะสิงห์ ไปประเทศอังกฤษ
3. นายสุทนทร สกุลโพน ไปประเทศอังกฤษ
4. น.ส.เฟื่องศิลป์ ศรายุทธพิทักษ์ ไปประเทศอังกฤษ
5. นายเชิดเชลง ชิตชวนกิจ ไปประเทศเดนมาร์ค