Search



ทรงใช้แนวคิดแบบวิทยาศาสตร์

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีความมุ่งมั่น ทรงโปรดการค้นคว้าหาข้อเท็จจริงเพื่อตอบคำถามที่ทรงสงสัย ทรงเชื่อในเหตุผลและโปรดการทดลองปฏิบัติด้วยพระองค์เอง ซึ่งสอดคล้องกับพุทธศาสนาที่สอนไม่ ให้เชื่อจนกว่าจะได้ปฏิบัติจนเกิดความรู้ความเข้าใจ และการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวเป็นคุณสมบัติของผู้ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์

ในขณะเดียวกันพระองค์ทรงส่งเสริมให้ราษฎรเชื่อในเหตุผล ไม่ให้เชื่อข่าวลือ เช่น การเกิดดาวหาง เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สามารถมองเห็นได้ในหลายประเทศ ไม่มีอันตรายต่อผู้ใด พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในด้านวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่สมัยที่ยังทรงพระผนวช ด้วยทรงมุ่งมั่นศึกษาภาษามคธจนเชี่ยวชาญ เพื่อค้นหาคำตอบที่ทรงสงสัยจากพระไตรปิฎก ต่อมาทรงเชี่ยวชาญด้านภาษาตะวันตก เช่น ภาษาอังกฤษ และทรงศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ของชาติตะวันตก อีกทั้งได้ทรงแลกเปลี่ยนความรู้ และเรียนรู้ร่วมกับนักบวชต่างชาติ เมื่อพระองค์ทรงทราบว่าการเกิดสุริยุปราคานั้น นักวิทยาศาสตร์สามารถคำนวณได้ล่วงหน้ พระองค์จึงทรงอุทิศเวลาติดตามศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เอง ทำให้ทรงรอบรู้ทั้งด้านดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ พระองค์ทรงมีความสามารถในการใช้เครื่องมือทางดาราศาสตร์ และเครื่องวัดเวลา และในการเสด็จประพาสหัวเมืองต่าง ๆ นอกจากทรงได้สดับตรับฟังทุกข์สุขของราษฎรแล้ว ยังทรงนำเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาทรงใช้วัดแดดวัดดาว เพื่อจะได้ทราบว่าในขณะนั้นพระองค์เสด็จและประทับอยู่จุดไหนของโลก การที่พระองค์ท่านทรงสนพระราชหฤทัยในการศึกษาหาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ อันเป็นที่มาของการคำนวณการเกิดสุริยุปราคา ดังนั้นการที่มีชาวต่างประเทศแซ่ซ้องสรรเสริญพระองค์ท่านว่าทรงพระปรีชาสามารถ ทรงเป็นนักคำนวณและนักดาราศาสตร์ยอดเยี่ยม จึงมิใช่สิ่งที่เหนือความเป็นจริง

ทรงคำนวณด้วยพระองค์เอง

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ ดังนั้น การคำนวณการเกิดสุริยุปราคา ซึ่งต้องใช้วิชาตรีโกณมิติชนิด Logarithm ที่มีขั้นตอนการคำนวณซับซ้อน เช่น การแก้สมการตรีโกณมิติทรงกลมท้องฟ้า ซึ่งเป็นหัวใจของการคำนวณการเกิดสุริยุปราคา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาสามารถโดยทรงคำนวณได้ด้วยพระองค์เอง

รศ.ดร. ขาว เหมือนวงศ์ นักดาราศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน ได้พิสูจน์โดยตรวจสอบจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง และใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการคำนวณ พบว่า พระองค์ท่านต้องทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาในครั้งนี้ด้วยพระองค์เอง และต้องทรงคำนวณตั้งแต่ต้นจนสุดท้าย มิได้ทรงใช้ ข้อมูลจากปฏิทินเดินเรือของต่างประเทศ เนื่องจากเอกสารของต่างประเทศมิได้เปิดโอกาสให้กระทำได้ เพราะมิได้มีค่าต่าง ๆ ที่จำเป็นแก่การคำนวณมาให้ ไม่มีทางที่พระองค์ท่านจะนำเอาข้อมูลชั้นต้นของผู้ใดมาใช้ เพื่อทรงคำนวณประกอบเพิ่มเติมได้เลย โดยเฉพาะเมื่อพระองค์ทรงคำนวณไว้ล่วงหน้า 2 ปี คงไม่มีผู้ใดส่งเอกสารเหล่านั้นมาถวายได้รวดเร็วปานนั้น และพระองค์ทรงคำนวณนอกเหนือจากที่ต่างประเทศกระทำ

ทรงคำนวณไว้ล่วงหน้า 2 ปี

เจ้าพระยาทิพากรวงศ
ได้บันทึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงคำนวณไว้เมื่อปีขาล อัฐศก (ตรงกับจุลศักราช 1228 หรือ พ.ศ. 2409) หรือ 2 ปีก่อนเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง) ว่า ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1230 จะมีสุริยุปราคาจับหมดดวง เมื่อเดือน 10 ขึ้น 1 ค่ำ ซึ่งต่อมานงเยาว์ กาญจนจารี ได้ศึกษาความเป็นไปได้จากเอกสารต่าง ๆ และยอมรับว่าการที่ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาไว้ก่อนล่วงหน้าถึง 2 ปีนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เนื่องจากมีการตระเตรียมการเพื่อเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง มีการสร้างพลับพลาค่ายหลวง เป็นตำหนักไม้ 3 ชั้น มีการเชิญแขกชาวต่างประเทศ เช่น เซอร์ แฮรีออด (Sir Harry Orde) นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งต้องเชิญล่วงหน้าเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากการคมนาคมในสมัยนั้นต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง นอกจากนี้ยังมีการตระเตรียมอาหารเพื่อรับรองแขกเมืองให้เหมาะสม มีการจ้างพ่อครัวชาวฝรั่งเศสพร้อมผู้ช่วยและลูกมือ มีการสั่งอาหาร ไวน์ และน้ำแข็งจากสิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการเตรียมการ จนแขกชาวต่างประเทศไม่คาดว่าจะได้พบที่พักอาศัยอันอุดมสมบูรณ์เช่นนี้ในป่าสยาม