Search



กำเนิดโรงเรียนแบบสากล


สถาบันการศึกษาที่เป็นระบบแตกต่างกับสถาบันการศึกษาแบบเดิมของไทย ที่มีอยู่ในวัด ในวัง อยู่เป็นอันมาก เพราะจะเป็นสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรค่อนข้างแน่นอนชัดเจนว่าจะสอนอะไรบ้าง มีกำหนดเวลาเรียน มีการจ้างครูมาทำการสอน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุนให้มิชชันนารีอเมริกันตั้งโรงเรียนขึ้น เพื่อให้การเพื่ออบรมสั่งสอนให้คนไทยมีความรู้ในภาษา วรรณคดี และวิทยาการของตะวันตก ผู้มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาสมัยใหม่ในระยะแรกของไทย คือคณะมิชชันนารีอเมริกัน ในส่วนของการศึกษาภายในโรงเรียนของมิชชันนารีพึ่งอยู่ในระยะเริ่มต้นของการเกิดโรงเรียนที่เป็นระบบแบบสากลขึ้น และนับว่าเป็นการก้าวสู่การศึกษาแบบสมัยใหม่ที่มีระบบการเรียนการสอนที่เป็นพื้นฐานของการการศึกษาในสมัยต่อมา

โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
ก่อตั้งเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๓๙๕ ต่อมาได้รวมกับโรงเรียนของซินแส กี เอ็ง ก๊วยเซียน ซึ่งเป็นชาวจีนที่นับถือนิกายโปรเตสแตนส์ โรงเรียนนี้รับนักเรียนชายล้วน มีครูใหญ่เป็นคนไทย และสอนด้วยภาษาไทย

คริสเตียนบอยสกูล กุฎีจีน เป็นโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกของเมืองไทย ปัจจุบันคือ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

ตามบันทึกของหมอเฮ้าส์ เดือนสิงหาคม ๒๓๙๙ มีความตอนหนึ่งว่า "โรงเรียนของเราได้ขยายออกไปมาก มีหลายคนมาสมัครเรียนภาษาอังกฤษ เป็นบุตรชายคนหัวปีของอัครมหาเสนาบดี ได้มาเรียนกับมิสซิสมัตตูน สม่ำเสมอ เป็นเด็กฉลาด อายุ ๗ ปี ในหลวงทรงขอร้องให้ข้าพเจ้าสอนเจ้านาย ๒ องค์ คือ พระราชนัดดาอายุ ๑๖ ปี อีกองค์หนึ่งเป็นนัดดาของในหลวงองค์ก่อน อายุ ๑๑ ปี และได้ทรงสั่งให้เด็กชาย ๑๒ คน ซึ่งเป็นบุตรของพวกมหาดเล็ก มาเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนของเรา โดยเป็นนักเรียนไปกลับ ต้องสร้างโรงเรียนไม้ไผ่ขนาดใหญ่ขึ้นทางหลังบ้านของเรา"



ต่อมาเมื่อกิจการของโรงเรียนขยายตัวออกไป สถานที่ตั้งโรงเรียนก็ได้ย้ายไปอยู่ ณ สถานที่แห่งใหม่ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลสำเหร่ ชื่อโรงเรียนสำเหร่บอยคริสเตียนไฮสกูล ต่อมาย้ายมาอยู่ที่ตำบลสีลม เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย" นับเป็นโรงเรียนแห่งแรกของไทย ที่มีอายุยืนนานที่สุดอยู่ในประเทศไทยขณะนี้