Search

โรงเรียนราษฎร์สำหรับนักเรียนสตรีแห่งแรกของเมืองไทย ซึ่งคณะมิชชันนารีอเมริกันได้ตั้งขึ้นที่จังหวัดเพชรบุรี
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๘ ปัจจุบันคือ โรงเรียนอรุณประดิษฐ์

โรงเรียนอรุณประดิษฐ์ เป็นโรงเรียนราษฎร์สำหรับนักเรียนสตรีแห่งแรกในประเทศไทย ได้กำเนิดขึ้นที่เมืองเพชรบุรี เมื่อเดือนเมษายน ๒๔๐๘ โดยนาง เอส.จี.แมคฟาร์แลนด์ (Mrs. S.G. McFarland) เป็นผู้จัดตั้งขึ้น เดิมชื่อโรงเรียนอรุณสตรี

การศึกษาในระยะเริ่มแรกนั้น นอกจากเรียนหนังสือแล้ว แหม่มแมคฟาร์แลนด์ยังได้ฝึกสอนวิชาเย็บปักถักร้อยให้แก่เด็กๆ เหล่านี้ด้วย และครั้นเมื่อพวกมิชชันนารีได้นำจักรเย็บผ้ารุ่นแรกเข้ามาใช้ในเมืองไทยแล้ว แหม่มแมคฟาร์แลนด์ก็ได้นำจักรเย็บผ้านั้น มาฝึกสอนให้ลูกศิษย์ของตนรู้จักใช้กันมากขึ้น ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการสอนวิชาตัดเย็บเสื้อผ้าด้วยจักรขึ้นในเมืองไทย จนในครั้งนั้นเพชรบุรีได้มีสมญาว่า "เมืองแห่งจักรเย็บผ้า" (Sewing Machine Town) โรงเรียนนี้ก็เลยได้ชื่อว่า เป็นโรงเรียนหัตถกรรม หรือโรงเรียนอุตสาหกรรม และนับว่าเป็นโรงเรียนอาชีวศึกษาสอนวิชาตัดเย็บเสื้อผ้าสำหรับสตรีแห่งแรกในประเทศไทย

การศึกษาต่อต่างประเทศ

ในระยะหลังความนิยมที่จะเล่าเรียนภาษาและวิชาการต่าง ๆ จากพวกมิชชันนารีโดยส่วนตัวดูจะแพร่หลายขึ้น ทั้งในกลุ่มเจ้านายและสามัญชนโดยทั่วไป ทั้งนี้น่าจะเนื่องมาจากการขยายตัวทางการค้าหลังการทำสนธิสัญญาบาว์ริงใน พ.ศ. ๒๓๙๘ นั่นเอง การติดต่อกับพ่อค้าชาวต่างประเทศมีกว้างขวางมากขึ้นกว่าเดิม ประกอบกับเป็นการเจริญรอยตามพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่โปรดคนรู้ฝรั่ง ทรงพระราชดำริว่า ผู้ใดมีสติปัญญาก็ควรจะเอาเข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้วย และผู้ที่รู้ภาษาอังกฤษจะมีโอกาสให้เข้ารับราชการใกล้ชิดเบื้องยุคลบาทได้ไม่ยาก จากความนิยมในการศึกษาแบบใหม่ทำให้การส่งนักเรียนไทยไปเรียนต่างประเทศมีมากขึ้น โดยนักเรียนไทยที่ทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกไปศึกษา ณ ต่างประเทศคณะแรก ซึ่งเดินทางไปพร้อมคณะทูตไทยไปอังกฤษ เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๐ มี ๒ คน คือ นายทด บุนนาค บุตรพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค)และนายเทศ บุนนาค (เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ) บุตรสมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ทั้งสองได้รับการฝากฝังให้กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษจัดให้ศึกษาในโรงเรียนราชวิทยาลัยที่กรุงลอนดอน แต่ปรากฏว่าเมื่อคณะทูตเดินทางกลับ นักเรียนทั้งสองก็กลับโดยไม่ทราบเหตุผล

นักเรียนที่บิดามารดาส่งออกไปเอง และได้กลับมารับราชการในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มี ๓ คนซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้บันทึกไว้ คือ


เจ้าพระยาภาสกรวงศ์
(พร บุนนาค)
พระยาอรรคราชนารถภักดี
(หวาด บุนนาค)

พระยาอัครราชวราทร (หวาด บุนนาค) รับราชการเป็นหลวงวิเศษพจนการกรมท่า
พระยาอรรคราชวราทร (เนตร) ไปศึกษาที่ประเทศสิงคโปร์ รับราชการเป็น ขุนศรีสยามกิจ ผู้ช่วยกงสุลสยามที่เมืองสิงคโปร์ แล้วเลื่อนเป็น หลวงศรีสยามกิจ ตำแหน่งไวส์กงสุลสยามที่เมืองสิงคโปร์
เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ไปศึกษาประเทศอังกฤษ รับราชการในตำแหน่ง นายราชาณัตยนุหารหุ้มแพรวิเศษในกรมอาลักษณ์พนักงานเชิญรับสั่งไปต่างประเทศ และทรงใช้สอยในหน้าที่ราชเลขานุการภาษาอังกฤษจนตลอดรัชกาล

นอกจากนี้ยังมีนักเรียนอีก ๓ คนซึ่งออกไปศึกษาที่ยุโรปและกลับเข้ารับราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ

เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์
(โต บุนนาค)
เจ้าพระยาราชานุประพันธ์
(สุดใจ บุนนาค)

เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) บุตรเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ได้เล่าเรียนวิชาทหารปืนใหญ่จากอังกฤษ นับเป็นคนแรกที่สำเร็จวิชาทหารจากยุโรป
เจ้าพระยาราชานุประพันธ์ (สุดใจ บุนนาค) บุตรเจ้าพระยาภาณุวงษ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ศึกษาที่ประเทศอังกฤษ
หลวงดำรงสุรินทร์ทรฤทธิ์ (บิ๋น บุนนาค) บุตรเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส