Search



โฉมหน้าใหม่ของการศึกษาไทย

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ สังคมไทยกำลังเปลี่ยนไปหลังจากได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตก โดยเฉพาะ เรื่องการศึกษาของชนชั้นสูงที่ตื่นตัวเรียนวิทยาการและภาษาจากชาติตะวันตกมากขึ้นด้วยเห็นความจำเป็น โดยเฉพาะ
รัชกาลที่ ๔ ทรงมีพื้นฐานความรู้ทางภาษาและวิทยาการตะวันตกเป็นอย่างดีจากการศึกษาตั้งแต่เมื่อครั้งทรงสมณเพศ อีกทั้งยังทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาภาษาต่างประเทศ ด้วยทรงเห็นว่าการศึกษาภาษาต่างประเทศจะเป็นด่านแรกที่จะเข้าถึงวิทยาการต่างๆ ของชาติตะวันตก โรงเรียนตะวันตกเกิดขึ้นพร้อมกับการมาของครูฝรั่งที่เข้ามาสอนในพระบรมมหาราชวัง และมิชชันนารีที่เปิดโรงเรียนสอนลูกชาวบ้าน

การศึกษาในพระราชสำนัก จากบันทึกของหมอบรัดเลย์ (สยามสามสมัยจากสายตาหมอบรัดเลย์) วันก่อนที่เจ้าฟ้าจะทรงลาผนวช พระองค์โปรดให้มิชชันนารีโปรเตสแตนต์ที่ทรงสนิทสนมมาเป็นปีๆ เข้าเฝ้า ในระหว่างการเข้าเฝ้า พระองค์ตรัสอย่างไม่ถือพระองค์และให้รู้เป็นการภายใน สิ่งที่พระองค์ตรัสทำให้ความหวังที่จะเห็นสยามรุ่งเรืองในอนาคตฟื้นคืนมาอีก พระราชดำรัสที่ทำให้เราหูผึ่งก็คือ พระราชดำรัสที่จะให้มีชั้นเรียนขนาดใหญ่ให้หนุ่มสยามได้ศึกษาภาษาอังกฤษอย่างดี และจะทรงโปรดให้มีโรงเรียนมัธยมขึ้นในบางกอก ที่สอนทั้งภาษาอังกฤษและวิทยาศาสตร์จากตะวันตกด้วย

เมื่อรัชกาลที่ ๔ เสด็จขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ทรงเริ่มดำเนินการตามนั้นภายในหกเดือน หลังขึ้น ครองราชย์ พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้อย่างน้อยๆ ก็พระประยูรญาติให้ได้รับการศึกษาแบบที่เดียวกับราชสำนักในยุโรป

พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ
(สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส)
พระโอรสและพระหลานเธอในพระบรมวงศานุวงศ์
ทรงศึกษาภาษาอังกฤษ กับนายฟรานซิล ยอร์ช แพตเตอร์สัน

จากพระราชนิพนธ์พระประวัติตรัสเล่า ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นโอรสองค์ที่ ๔๗ แห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีใจความตอนหนึ่งว่า "….เริ่มต้นที่ล้นเกล้าฯ จะทรงทำนุบำรุงพวกเราให้ได้รับความรู้ ทรงตั้งโรงเรียนภาษาอังกฤษขึ้นที่ตึกแถวริมประตูพิมานชัยศรี ด้านขวามือหันหน้าออก มีนายฟรานซิล ยอร์ช แพตเตอร์สัน เป็นครูสอน อยู่ในความดูแลของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เช้าสอนเจ้านายกับพวกเราและหม่อมเจ้าบ้าง บ่ายสอนข้าราชการที่เป็นทหารมหาดเล็ก เราเข้าเรียนมาตั้งแต่เปิดโรงเรียน ครั้งนั้นเรามีอายุราว ๑๒ ปี ครูพูดไทยไม่ได้สอนอย่างฝรั่งเจี๊ยบ หนังสือเรียนใช้แบบฝรั่ง ที่สุดจนแผนที่ก็ใช้แผนที่ยุโรปสำหรับสอน เรารู้จักแผนที่ของเมืองฝรั่งก่อนเมืองไทยเราเอง คิดเลขก็ใช้มาตราอังกฤษ เรารู้นิสัยฝรั่งจากหนังสือเรียน ......."

นอกจากนี้ ตามบันทึกของ ดร. เฮ้าส์ (Haws) พ.ศ. ๒๓๙๔ ทรงโปรดให้กลุ่มมิชชันนารีส่งสตรีในคณะมิชชันนารีไปสอนภาษาอังกฤษแก่พระราชธิดาและพวกสตรีในวังหลวง

สตรีมิชชันนารีที่ทำหน้าที่สอนพวกสตรีในวังหลวง คือนางแดน บรัดเลย์ นางเอส แมททูน และนางจอร์น เทเลอร์โจน ไปสอนภาษาอังกฤษในพระราชสำนัก เป็นเวลา 3 ปี

สตรีมิชชันนารี ประกอบด้วยภรรยาหมอบรัดเลย์ (Mrs.Bradley) ภรรยาหมอแมททูน (Mrs.Matton) ภรรยาหมอโจนส์ (Mrs.Jones) มาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษและความรู้ทั่วไปแก่กุลสตรีในวังระหว่างปี พ.ศ.๒๓๙๔-๒๓๙๗


อย่างไรก็ดี การที่ได้มีมิชชันนารีเข้าไปสอนหนังสือถึงในพระบรมมหาราชวัง ก็พอนับได้ว่าเป็นโรงเรียนสตรีแห่งแรกในประเทศไทย เพราะมีจำนวนนักเรียนถึง 30 คน และมีครูช่วยกันถึงสามคน แต่เป็นโรงเรียนหลวงมิใช่โรงเรียนราษฎร์ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงโปรดให้ก่อตั้งขึ้นมา และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่สตรีไทยได้เริ่มศึกษาภาษาอังกฤษกัน ซึ่ง ดร. เฮ้าส์ (Haws) บันทึกว่า "...การสอนหนังสือชาววังนี้เป็นงานให้การศึกษาชาววังเป็นครั้งแรกในต่างประเทศ และกล่าวว่าจุดนี้เป็นการเริ่มต้นให้การศึกษาแก่ สตรีชาววังอย่างเป็นทางการ..."

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๐๔ โปรดเกล้าให้จ้างนางแอนนา เลียวโนเวนส์ (Anna Leonowens) ชาวอังกฤษ มาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ให้แก่พระโอรสและพระธิดา ทรงให้ตั้งโรงเรียนขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้พระราชโอรสและพระราชธิดาและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ได้ศึกษาภาษาอังกฤษ และต่อมาทรงโปรดให้ศึกษาวิชาการแขนงต่าง ๆ กว้างขวางขึ้น อาทิ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ นับเป็นการวางรากฐานการศึกษาแบบใหม่ขึ้น

ภาพเขียนลายเส้นเด็กชาย เด็กหญิงในโรงเรียนคริสตังแห่งหนึ่ง
ครูผู้หญิงชาวอเมริกันสอนหนังสือเด็กไทย
มีครูคนไทยเป็นผู้ช่วย
สตรีในโรงเรียนมิชชันนารีสมัยรัชกาลที่ ๔ ในชั้นเรียนที่ภรรยา
หมอเฮาส์สอนหนังสือ สอนตัดเย็บ และการซักรีดเสื้อผ้า