Search
Page 6 of 7
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับ ณ เกยหน้าพลับพลาที่ประทับ โปรดให้ฉายพระรูป กับคณะแขกเมือง ณ ค่ายหลวงบ้านหว้ากอ |
ด้านการพิมพ์ คนไทยคนแรกที่ริเริ่มกิจการพิมพ์หนังสือขึ้นคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะที่ยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎและยังทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงเห็นประโยชน์ของหนังสือ ในเมื่อคณะมิชชันนารีพิมพ์หนังสือเผยแพร่ศาสนาคริสต์ พระองค์ทรงดำริให้ใช้การพิมพ์เผยแพร่ศาสนาพุทธ จึงโปรดฯ ให้สั่งเครื่องพิมพ์มาตั้งที่วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงพิมพ์หนังสือบทสวดมนต์ด้วยอักษรอริยกะ เป็นต้น
แท่นพิมพ์แรกของหมอบรัดเลย์ที่นำเข้ามาใช้ในเมืองไทย |
ในปี พ.ศ. ๒๓๙๐ หนังสือบางกอกคาเลนเดอร์ของหมอบรัดเลย์ระบุว่า "...โรงพิมพ์ของเจ้าฟ้าใหญ่มีแท่นพิมพ์ ๑ แท่น ตัวพิมพ์อักษรไทย ๑ ชุด ตัวพิมพ์อังกฤษ ๒ ชุด และตัวพิมพ์ภาษาบาลี ๒ ชุด สิ่งพิมพ์ส่วนใหญ่เป็นภาษาบาลี และกล่าวว่าเป็นโรงพิมพ์แห่งแรกของไทย..."
บทสวดมนต์ตัวอักษรอริยกะ มงคลสูตร |
ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขึ้นครองราชย์สมบัติ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพิมพ์ขึ้นอีกแห่งหนึ่งในบริเวณพระราชวังชั้นกลาง เป็นตึกสองชั้นพระราชทานชื่อว่า โรงพิมพ์อักษรพิมพการ ซึ่งเป็นโรงพิมพ์หลวงทำหน้าที่เป็นโรงพิมพ์แห่งชาติโรงแรก ในพ.ศ. ๒๔๐๑ ได้จัดพิมพ์หนังสือราชกิจานุเบกษาอันเป็นหนังสือพิมพ์ของราชการฉบับแรก สำหรับบอกข่าวคราวในราชสำนักและเก็บความจากประกาศของราชการต่าง
ส่วนโรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ ก็มิได้ถูกกีดกัน แต่กลับได้รับการนับถือว่าเป็นบิดาของโรงพิมพ์ทั้งหลาย และยังได้รับพระราชทานลิขสิทธิ์เป็นครั้งแรกของเมืองไทยให้พิมพ์แบบเรียนภาษาไทย เช่น หนังสือจินดามณี ประถม ก กา ประถมมาลา และตำราวิชาการอื่นๆ เช่น วิชาช่าง และวิชาการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อออกจำหน่าย เป็นต้น
การนำเทคโนโลยีการพิมพ์เข้ามาใช้ในเมืองไทย นับเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่งในการแพร่หลายความรู้ต่างๆ สู่สาธารณะชนอย่างกว้างขวางในรูปแบบใหม่ คือ เริ่มเปลี่ยนแปลงความรู้แบบ "มุขปาฐะ" มาเป็นการเผยแพร่ความรู้ด้วยภาษาเขียน เป็นรูปลายลักษณ์อักษร และการแพร่หลายของความรู้ที่จำกัดเฉพาะราชสำนักหรือในหมู่ข้าราชการสู่สาธารณะชนมากขึ้น จึงเป็นการเผยแพร่ความรู้ไปสู่ประชาชนให้กว้างขวาง นับว่าเป็นการนำเอาการศึกษาของไทยเดิมมาประกอบเข้ากับวิทยาการของมิชชันนารีฝรั่งที่นำเข้ามา สร้างความเจริญก้าวหน้าทางการศึกษาของไทยได้เร็วขึ้นไปอีก แบบเรียนภาษาไทยที่พัฒนาขึ้นมาและจ้างพิมพ์ที่โรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์คงใช้ในการสอนภาษาไทยที่โรงเรียนของมิชชันนารีด้วย
กล่าวได้ว่าการยอมรับการศึกษาภาษาอังกฤษและอารยธรรมตะวันตกของรัชกาลที่ ๔ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงที่มีคุณค่าต่อการศึกษาของประเทศ ระบบการศึกษาดั้งเดิมของชาติที่สืบต่อกันมาหลายศตวรรษได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปสู่แนวใหม่ที่ละเล็กละน้อยแต่บัดนั้นเป็นต้นมา การส่งคนไปเรียนต่างประเทศเพื่อนำวิชาการแบบใหม่มาปรับปรุงงานด้านต่าง ๆแม้ว่าจะยังจำกัดอยู่เฉพาะขุนนาง และข้าราชการชั้นสูง แต่ก็เป็นการวางรากฐานในการพัฒนาคนเพื่อเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ซึ่งจะมีการแบ่งแยกหน่วยงานที่หลากหลายและต้องการผู้มีความรู้เฉพาะด้านมากขึ้นในเวลาต่อมา
พระองค์มีภารกิจมากมาย ขณะที่สถานการณ์บ้านเมืองเต็มไปด้วยความยากลำบาก และอยู่ในภาวะล่อแหลมจากแผนการล่าอาณานิคม แต่พระองค์ก็ทรงดำเนินการต้านกระแสคลื่นยักษ์ของการล่าเมืองขึ้นได้สำเร็จ ทรงวางรากฐานการปฏิรูปและการพัฒนาประเทศชาติ แต่เนื่องด้วยทรงมีเวลาเพียง ๑๗ ปี ในช่วงที่ทรงครองราชย์ ทั้งยังต้องทรงใช้เวลาในการศึกษาเรียนรู้วิทยาการต่างๆ ด้วยพระองค์เองอยู่นานหลายปี ขณะที่พสกนิกรชาวไทยยังไม่มีการศึกษามากนัก สถานการณ์บ้านเมืองจึงยังไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงใดๆ หากแต่พระองค์ทรงพยายามวางรากฐานทางการศึกษา ทรงโน้มน้าวให้ประชาชนยอมรับวิทยาการแผนใหม่และมีเหตุผลมากขึ้น พระราชภารกิจหลายอย่างจึงมามีสัมฤทธิผลในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชโอรสของพระองค์เป็นส่วนใหญ่