Search

รวบรวมและเรียบเรียงโดย สมปอง พงษ์ไมตรี และสุภาพ กลิ่นเรือง

การศึกษาของไทยในสมัยโบราณก่อนเข้ามาของอิทธิพลตะวันตก เป็นการศึกษาแบบจารีต (Tradition Education) โดย มีรูปแบบการศึกษาที่สำคัญ ๓ ขั้นตอน คือการศึกษาอักขรวิธี การบวชเรียน และการศึกษาวิชาเฉพาะ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวยังขึ้นอยู่กับสถานภาพทางสังคมของผู้รับการศึกษา ได้แก่ ชนชั้น และเพศ

45

การศึกษาของไทยหลังการเข้ามาของอิทธิพลตะวันตก ในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีมิชชันนารีจากหลายๆ องค์กรต่างเดินทางมาในประเทศไทยอย่างมากมายโดยมีจุดหมายแรกคือ การเผยแพร่ศาสนาแก่ชาวจีนในกรุงเทพฯ และสาสนทูตเหล่านี้ก็เริ่มเดินทางออกสู่หัวเมืองภูมิภาคในเวลาต่อมา

ปัลเลอกัวซ์ หมอบรัดเลย์ หมอเฮาส์
มิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนา และวิทยาการตะวันตก


แม้ว่าคณะมิชชันนารีเหล่านี้จะไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องชักจูงคนไทยให้เข้ารีตได้มากตามความตั้งใจ เห็นได้จากบันทึกความผิดหวังของนายแพทย์บรัดเลย์ (Dr. D.B. Bradley) ว่าท่านไม่สามารถชักจูงคนไทยให้เข้ารีตได้แม้แต่คนเดียว

อย่างไรก็ดีคณะมิชชันนารีได้นำวิทยาการ และวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยมากมาย โดยเฉพาะด้านการศึกษา เริ่มจากนายแพทย์บรัดเลย์ได้นำแท่นพิมพ์และตัวพิมพ์ภาษาไทยเข้ามาในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ และตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่ปากคลองบางกอกใหญ่ ส่วนใหญ่จะพิมพ์หนังสือสอนศาสนาทั้งพุทธและคริสต์ ซึ่งหมอบรัดเลย์ได้ออกหนังสือพิมพ์รายปักษ์ภาษาไทย ชื่อ "บางกอกรีคอร์เดอร์" ต่อมาออกหนังสือรายปีเป็นภาษาอังกฤษชื่อ "บางกอกกาเล็นเดอร์" อันเป็นแบบอย่างของการทำหนังสือพิมพ์ไทยในสมัยต่อมา และเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการอ่าน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังทรงสมณเพศพระองค์สนพระทัยศึกษาสรรพวิชาการต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะวิทยาการชาติตะวันตก ทรงตั้งโรงพิมพ์ภาษาไทยของคนไทยเป็นแห่งแรกที่วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อพิมพ์คำสอนในพระพุทธศาสนาและหนังสือราชการ นอกจากนั้นยังทรงศึกษาภาษาต่างชาติ คือภาษาลาตินจากสังฆราชปัลเลอกัวซ์ และศึกษาภาษาอังกฤษกับอาจารย์ เจสซี่ แคสแวน มิชชันนารีอเมริกันที่วัดบวรนิเวศวิหาร

ความรู้ในภาษาอังกฤษที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงศึกษานั้นนับได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญเปิดประตูไปสู่ความรู้วิชาอื่นๆ การศึกษาที่เริ่มเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ ๔ จากที่มีลักษณะจารีตลักษณ์ (Traditional Society) หรือลักษณะแบบเดิม ที่ดำเนินสืบมากลายเป็นแบบนวลักษณ์ (Modern Society) หรือลักษณะแบบใหม่ตามแบบตะวันตกที่เริ่มแพร่ขยายอิทธิพลเข้ามาและเป็นแบบใหม่ตามลักษณะแบบไทย