Search
ด้านการคมนาคม : รัชกาลที่ 4 ทรงปรับปรุงและขยายเส้นทางคมนาคมทางบกและทางน้ำเพื่อเพิ่มเส้นทางสัญจรในการติดต่อค้าขายได้สะดวกขึ้น
การสร้างถนน มีการสร้างถนนแบบใหม่แทนทางเกวียนแบบเดิม โดยเฉพาะถนนสายหลัก ในกรุงเทพฯ ได้แก่ ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร ถนนสีลม
ตึกแถวถนนเจริญกรุง คือ ที่เห็นเป็นตึกขาวยาวๆ มีหน้าต่างเจาะเป็นแถวบริเวณกลางภาพ |
ทำให้สองฝั่งถนนมีร้านค้า ตึกแถวชั้นเดียว เกิดขึ้นเป็นแหล่งค้าขายของชาวจีน และชาวตะวันตกเพิ่มขึ้น (สมเด็จกรมพระยาดำรง ราชานุภาพ, 2516 : 237) การค้าขายทางบกขยายตัวเกิดเป็นห้างร้านและย่านการค้าที่สำคัญ ราษฎรได้เปลี่ยนแปลงจากความนิยมตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำมาตั้งอยู่บริเวณสองฟากฝั่งถนนกันมากขึ้น เกิดเป็นสังคมใหม่ในชุมชนเมืองในเวลาต่อมา ในส่วนของถนนในหัวเมืองมีการขยายตัวตามหัวเมืองใหญ่หลายแห่ง อาทิ การสร้างถนนจากเมืองสงขลาไปจนถึงเขตแดนไทรบุรีของมาเลเซีย ซึ่งขณะนั้นอังกฤษปกครองอยู่ หมอบรัดเลเสนอแนะให้สร้างถนนระหว่างกรุงเทพฯกับเชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในระบบเจ้าผู้ครองนคร เพื่อให้การสัญจรสะดวกขึ้น ติดต่อค้าขายและเจริญพระราชไมตรีกันได้คล่องตัวขึ้น (บางกอกรีคอเดอร์, 2409 : 254)
คลองขุด ถนน และสะพาน ในสมัยรัชกาลที่ 4 ภายหลังสนธิสัญญาบาวริง |
ระบบเศรษฐกิจแบบเงินตรา : แต่เดิมไทยใช้เงินเบี้ย ซึ่งเป็นเปลือกหอย และเงินพดด้วงที่
- กำหนดพิกัดอัตราแลกเปลี่ยนเงินไทยกับเงินต่างประเทศ
- ปรับปรุงเงินตราไทยให้ได้มาตรฐานแบบเดียวกับประเทศตะวันตก
- ออกประกาศชี้แจงให้ราษฎรเข้าใจและปรับตัวให้เข้ากับระบบเงินตราสมัยใหม่
เงินพดด้วง ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีตราประจำแผ่นดินเป็นรูปจักร และตราประจำรัชกาลเป็นรูปพระมหามงกุฎ |
เหรียญทองคำ มีขนาดราคาทศ (8 บาท) พิส (4 บาท) พัดดึงส์ (10 สลึง) ออกใช้เมื่อ พ.ศ.2406 เลิกใช้เมื่อ พ.ศ.2451 |
แนวคิดและวิธีปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเพื่อวางรากฐานในการพัฒนาประเทศ
หากพิจารณาถึงผลที่ตามมา แม้มองว่าการทำสนธิสัญญาบาวริงดังกล่าวทำให้ไทยก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ และพัฒนาชาติรัฐให้ก้าวขึ้นสู่ความเป็นชาติที่มีศักยภาพในการดำเนินนโยบายกับชาติมหาอำนาจได้อย่างสมบูรณ์ แต่สนธิสัญญาฉบับนี้มีข้อกำหนดที่ไทยเสียเปรียบอยู่หลายประการ อาทิ ไทยต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทางการศาล ทำให้ไทยอ่อนด้อยไปในด้านการใช้อธิปไตยบนแผ่นดินในสายตาของคนไทยเองและชาวต่างชาติ จนมีข่าวออกไปว่าไทยเสมือนเสียอำนาจด้านนี้ราวกับอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ ซึ่งไม่ต่างกับประเทศเพื่อนบ้านขณะนั้น รัชกาลที่ 4 ได้มีกระแสราชาธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ความว่า (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ, เอกสารรัชกาลที่ 4 เลขที่ 550, ม.ม.ป. : 1)
“...ได้ยินว่าเจ้านายขุนนางเป็นอันมากพูดกันคิดกันว่า เพราะวังหลวงวังน่าในแผ่นดินปัจจุบัน แลเสนาบดีผู้ใหญ่บางพวกคบค้าชอบภอกับอังกฤษ เล่าเรียนพูดภาษาและใช้หนังสือกับอังกฤษ อังกฤษจึงลวนลามเข้ามามากมาย วุ่นวายต่าง ๆให้ได้ลำคาญ การเรื่องนี้เหตุนี้ ท่านทั้งปวง เมื่อก่อนนี้ใน 50 ปี เมืองเกาะหมากก็เป็นของเมืองไทย เมื่อเมืองเกาะหมากเป็นของอังกฤษไปทีหลังนั้น เพราะใครคบกับอังกฤษเล่า เมืองสิงคโปร์ แต่ก่อนเป็นของแขกยาโฮ มาเป็นของอังกฤษตั้งท่าค้าขายใหญ่โต เมื่อศักราช 1181 มานั้น ที่กรุงเรียกว่า เมืองใหม่จนถึงทุกวันนี้นั้นเป็นเพราะเจ้านายข้างไทยคนใดไปคบกับอังกฤษเล่า...”
“...ตามสภาพเท่าที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ ประเทศเราล้อมรอบไปด้วยประเทศที่มีกำลังอำนาจ 2 หรือ 3 ด้าน แล้วประเทศเล็ก ๆ อย่างเราจะเป็นประการใด ถ้าหากจะสมมุติเอาว่าเราได้ค้นพบเหมืองทองคำภายในประเทสของเราเข้า จนเราสามารถขุดทองมาได้หลายล้านชั่ง จนเอาไปขายได้เงินมาซื้อเรือรบสักร้อยลำ แม้กระทั่งเราก็ยังไม่สามารถไปสู้รบปรบมือกับพวกนี้ได้ด้วยเหตุผลกลใดเล่า ก็เพราะเรายังจะต้องซื้อเรือรบและอาวุธยุทธภัณฑ์ต่าง ๆ จากต่างประเทศพวกนั้น เรายังไม่มีกำลังพอจะจัดสร้างสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวของเราเอง แม้ว่าเราพอจะมีเงินซื้อหาได้เขาก็เลิกขายให้กับเรา ในเมื่อเขารู้ว่าเรากำลังติดเขี้ยวติดเล็บจนเกินฐานะ ในภายภาคหน้าเห็นจะมีอาวุธที่สำคัญสำหรับเราอย่างเดียวก็คือ ปากของเราและใจของเราให้เพียบพร้อมไปด้วยเหตุผลและเชาวน์ไหวพริบ ก็พอจะเป็นทางป้องกันตัวเราได้...”