Search

*** รวบรวม และเรียบเรียงโดย น.ส.สมปอง ยิ้มละมัย และน.ส.สุภาพ กลิ่นเรือง

สยามเปิดประตูทางการค้า สมัยรัชกาลที่ 4 : รากฐานการพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่ทรงดำเนินนโยบายเปิดการติดต่อสัมพันธ์กับชนชาติตะวันตกอย่างกว้างขวาง และเป็น ต้นแบบของนโยบายต่างประเทศในเวลาต่อมา

เนื่องจากตลอดระยะเวลา 27 ปีที่ทรงครองสมณเพศอยู่นั้นได้ทรงติดตามข่าวคราวการเคลื่อนไหวของมหาอำนาจตะวันตกอยู่ ด้วยความห่วงใยอนาคตของบ้านเมืองทรงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ชาวไทยควรจะเริ่มพยายามศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับชาวตะวันตกตลอดทั้งความเจริญตามแบบตะวันตก เพื่อจะได้เตรียมตัวไว้รับเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งจะเกิดขึ้นกับบ้านเมือง เช่นการปฎิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป การแผ่ขยายลัทธิจักรวรรดินิยมของมหาอำนาจตะวันตกที่แข่งขันกันทางแสนยานุภาพในการแสวงหาอาณานิคมโพ้นทะเล ซึ่งเริ่มเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 อังกฤษชนะรบพม่า จีน และหัวเมืองมาลายู เป็นต้น

การปฏิวัติอุตสาหกรรมในทวีปยุโรป :

เมื่อคริสต์ศตวรรษ ที่ 18-19 โดยเริ่มที่ประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรก และตามมาด้วยประเทศในยุโรปอื่น ๆ  เมื่ออุตสาหกรรมเจริญก้าวหน้า ผลผลิตมีปริมาณมากเกินความต้องการใช้ภายในประเทศ จำเป็นต้องแสวงหาตลาดเพิ่มขึ้นเพื่อระบายสินค้า จึงนำไปสู่การแข่งขันขยายอิทธิพลไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งขณะนั้นบรรดาประเทศในทวีปเอเชีย ซึ่งรวมถึงประเทศไทย กำลังถูกอิทธิพลของชาวตะวันตกคุกคามอยู่  โดยเฉพาะการที่จีนที่ถือว่าเป็นประเทศที่ใหญ่ในทวีปเอเชียต้องพ่ายแพ้ต่ออังกฤษ เพราะจีนพยายามกีดกันทางการค้าและไม่ยอมเปิดประเทศติดต่อสัมพันธ์กับชาวตะวันตกก่อให้เกิดผลร้ายต่อจีนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะสงครามฝิ่น (ค.ศ. 1840-1842)  และในขณะนั้นอังกฤษและฝรั่งเศสต่างพยายามแสวงหาที่มั่นในพม่าและอินโดจีน  เพื่อใช้เป็นบันไดไปสู่ยูนานและธิเบต

การปฏิวัติอุตสาหกรรม
สงครามฝิ่นจีน