Search



การส่งเสริมการเรียนรู้

คง เป็นที่ยอมรับว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ใฝ่เรียนรู้ จนตลอดพระชนม์ชีพ เนื่องจากทรงเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ โดยเฉพาะการเรียนรู้ภาษา ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษามคธ และฝรั่งเศส ทั้งนี้เพราะภาษาเป็นสื่อในการเรียนรู้ที่สำคัญ

พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในเอเชียที่อ่าน เขียนและตรัสภาษาอังกฤษได้ จึง ทรงติดตามข่าวคราวจากโลกภายนอกได้ และนำมาใช้ในการตัดสินพระทัย และการเรียนรู้วิชาการต่าง ๆ เพื่อยกระดับประเทศให้เป็นที่ยอมรับของอารยประเทศ พระองค์จึงทรงเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษ
ดังนั้น ในขณะทรงพระผนวชจึงทรงส่งเสริมให้พระภิกษุสงฆ์ เจ้านายและขุนนาง ได้มีโอกาสเรียนรู้ภาษาอังกฤษกับนายแพทย์ เจสซี แคสเวล หรือหมอหัสกัน เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ทรงว่าจ้างให้นางบรัดเลย์ และนางแมททุน ภรรยาของมิชชันนารีไปถวายการสอนภาษาอังกฤษ วรรณคดี และวิชาการของประเทศตะวันตก ให้พระราชธิดาและพระราชวงศ์ฝ่ายใน จึงนับเป็นการเปิดโลกการเรียนรู้ให้แก่สตรี ต่อมาได้ทรงว่าจ้าง แหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ (Mrs. Anna Leonowens) และหมอแชนเดลอร์ (J.H. Chandler) หรือหมอจันดเล เป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้กับพระราชโอรสและพระราชธิดา ในโรงเรียนในพระบรมมหาราชวัง การเรียนการสอนภาษาอังกฤษในขณะนั้น ไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย เรียนให้เข้าใจโดยธรรมชาติ สามารถมีจดหมายถึงกัน และบันทึกจดหมายเหตุได้

นอกจากนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ราษฎรได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษและวิชาการสมัยใหม่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุนให้มิชชันนารีตั้งโรงเรียนขึ้นในกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัด โดยเฉพาะเมื่อมีการพิมพ์หนังสือแบบเรียน เช่น จินดามณี ประถม ก.กา ประถมมาลา วิชาช่าง วิชาแพทย์ การเรียนรู้ได้ขยายไปสู่ราษฎรสามัญชนมากขึ้น จึงเป็นการขยายโอกาสด้านการเรียนรู้ให้กับราษฎรสามัญชน นอกจากนี้ทรงส่งเจ้านายบางพระองค์ไปดูงาน และทรงส่งข้าราชการไปศึกษาวิชาการต่าง ๆ ในต่างประเทศ