Search



ด้านท่องเที่ยวและการโรงแรม


จากวิชาหลักการโรงแรมของมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม กล่าวว่า “ธุรกิจโรงแรมในไทยเริ่มมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีโรงแรมที่เปิดกิจการอยู่ ๓ แห่ง คือ Union Hotel, Fishers Hotel และ Oriental Hotel ลูกค้าที่มาพักส่วนมากเป็นชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ภายหลังเกิดไฟไหม้โรงแรม Fishers Hotel และ Oriental Hotel และมีการสร้างโรงแรมตากอากาศขึ้นที่อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี สำหรับบริการชาวต่างชาติที่ต้องการตากอากาศ” ซึ่งสอดคล้องกับเอกชาติ จันอุไรรัตน์ (๒๕๕๑. หน้า ๘๖-๘๗) และเผ่าทอง ทองเจือ (๒๕๔๙. หน้า ๒๔) ว่า “...สถานที่พักตากอากาศชายทะเลแห่งแรกของไทยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ หลังจากที่ชาวต่างชาติได้ขออนุญาตให้สร้างขึ้นที่ตำบลอ่างหิน เมืองชลบุรี” และในช่วงปี พ.ศ.๒๔๐๔ ท่านปัลเลอร์กัวซ์ เดินทางไปจันทบูรณ์ เพื่อไปตากอากาศชายทะเลและรักษาตา โดยพักอยู่เป็นเวลาหนึ่งเดือน (สมศรี บุญอรุณรักษา. ๒๕๕๐. หน้า ๑๗๙)

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทรา
บรมราชินี ฉายเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๙
ภาพจาก : ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. หน้า ๓๓.
สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม)
(พ.ศ.๒๓๘๒-พ.ศ.๒๔๔๗)
ภาพจาก : ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. หน้า ๓๘.

การถ่ายภาพ ซึ่งในระยะแรกสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายถึงเรื่องนี้ว่า "...เมื่อแรกมีช่างถ่ายรูปนั้นไม่ค่อยมีใครยอมถ่ายรูปกัน" แต่ในการต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างถ่ายภาพ ฉายพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ คู่กับสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ไปให้กับสมเด็จพระราชินีวิคทอเรีย แห่งอังกฤษ นโปเลียนที่ ๓ แห่งฝรั่งเศส และประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา พร้อมเครื่องราชบรรณาการ (ปัจจุบันเครื่องราชบรรณาการดังกล่าวได้ถูกจัดเก็บไว้ในพระราชวังวินเซอร์ ประเทศอังกฤษ, พระราชวังฟองเต็นโบ ประเทศฝรั่งเศส และประเทศสหรัฐอเมริกา) ซึ่งทั้ง ๓ ประเทศนี้เป็นประเทศที่กำลังมีปัญหากับไทยในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายนำร่องของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ถ่ายภาพเจ้าจอมมารดาเปี่ยม และเจ้าจอมมารดาสำลี ซึ่งเป็นเจ้านายฝ่ายในสวมชุดสุภาพสตรีฝรั่ง และส่งออกไป เผยแพร่ว่าประเทศสยามทรงรับวัฒนธรรมฝรั่งแล้ว เพื่อจะได้ให้ผู้ที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่งได้รู้จักหน้าตา และได้เห็นบรรยากาศของความทันสมัยของไทยที่ได้นำวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยว ข้องในการดำเนินชีวิต (การถ่ายภาพ ล้างรูป และส่งไปตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์) (ไกรฤกษ์ นานา. ๒๕๕๐)

การเลี้ยงรับรอง โอภาส เสวิกุล (๒๕๑๓. หน้า ๑๑๑, ๑๖๕) ได้กล่าวว่า “...เมื่อคราวเสด็จที่หว้ากอ เพื่อดูสุริยุปราคานั้น ... อาหารที่รับรอง ทำโดยพ่อครัวชาวฝรั่งเศส มีหัวหน้าผู้รับใช้ชาวอิตาเลียนเป็นผู้รินเหล้าองุ่น หรือแชมเปญ ซึ่งเป็นของฟุ่มเฟือยที่หาได้ยากที่สุดในขณะนั้นก็แช่น้ำแข็งเสียจนเย็น … และโปรดให้สตรีฝ่ายใน พระราชโอรสธิดา เข้ามาร่วมในงานเลี้ยง”