Search



ด้านเศรษฐศาสตร์


เซอร์จอห์น เบาริ่ง ได้เข้ามาทำสนธิสัญญาเบาริ่ง (Bowring Treaty) (ค.ศ.๑๘๕๕ หรือ พ.ศ.๒๓๙๘) ถือเป็นการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกของประเทศไทย และการทำสัญญาฉบับนี้นับเป็นต้นกำเนิดของ FTA ในปัจจุบัน (Free Trade Area : ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดภาษีศุลากรระหว่างกันในกลุ่ม) มีผลให้ไทยต้องยกเลิกการค้าแบบผูกขาด โดยระบบพระคลังสินค้าอย่างเด็ดขาด (ในอดีตระบบเศรษฐกิจของไทยจะขึ้นกับพระมหากษัตริย์ โดยมอบหมายให้เสนาบดีเป็นผู้ดูแลแทน ซึ่งการจัดเก็บภาษีจะใช้วิธีการประมูล และมีการประมาณการว่าจะถวายเข้าคลังเท่าไหร่ ส่วนที่เหลือที่เก็บได้จะเป็นของเสนาบดี) เลิกล้มการเก็บภาษีเบิกร่องหรือค่าปากเรือ มีการจัดตั้ง ศุลกสถาน (Customs House) หรือ โรงภาษี จัดเก็บภาษีขาเข้าในอัตรา ร้อยชักสาม และภาษีขาออกตามที่ระบุไว้ในท้ายสัญญา ระบบการศุลกากรแบบใหม่ก็นำมาใช้นับแต่ครั้งนั้น โดยมิได้กำหนดเวลาว่าจะใช้บังคับนานเท่าใด เพียงแต่ระบุไว้ว่าจะมีการแก้ไขสนธิสัญญาได้ก็ต่อเมื่อได้รับการยินยอมพร้อม ใจจากประเทศคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย (ไกรฤกษ์ นานา. ๒๕๕๐. และนวพร เรืองสกุล. ๒๕๕๐. หน้า ๑๐-๑๑)

ด้านการเงิน

การค้าขายระหว่างไทยกับต่างประเทศเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากการทำสนธิสัญญาเบาริ่ง (Bowring Treaty) ทำให้มีเงินตราต่างประเทศและโลหะเงินแท่งไหลเข้าประเทศจำนวนมากเกินดุลการ ค้า การค้าขายต้องการใช้เงินตราเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนมากขึ้น ทำให้เงินพดด้วงที่ผลิตด้วยมือไม่พอใช้หมุนเวียนแลกเปลี่ยน ทรงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหลายวิธีด้วยกัน คือ ใน พ.ศ.๒๔๐๐ ประกาศให้ใช้เงินตราต่างประเทศ ได้แก่ เหรียญเม็กซิกัน และเงินจากสเตรทส์เซทเทิลเมนท์ (Straits Settlement : กลุ่มดินแดนในครอบครองของบริษัทอิสต์อินเดียของอังกฤษในภูมิภาคเอเชียตะวัน ออกเฉียงใต้ ได้แก่ ปีนัง สิงคโปร์ และมะละกา) ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย พระราชทานเบี้ยหวัดขุนนางเป็นเหรียญเม็กซิกัน (นวพร เรืองสกุล. ๒๕๕๐. หน้า ๑๐-๑๑) และพ.ศ.๒๔๐๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงกษาปณ์สิทธิการขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ผลิตเงินเหรียญด้วยเครื่องจักร มีทั้งที่ทำด้วย ทองคำ เงิน ทองแดง และดีบุกในราคาต่างกัน (สภาการเหมืองแร่. ๒๕๕๑. หน้า ๗๑-๗๒)

ด้านการสื่อสาร


สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร (๒๕๐๘) โอภาส เสวิกุล (๒๕๑๓) และ สงวน อั้นคง (๒๕๐๒) กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าครั้งยังทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ ทรงเล็งเห็นประโยชน์ของการพิมพ์หนังสือ จึงโปรดให้สั่งเครื่องพิมพ์มาพิมพ์หนังสือพระพุทธศาสนาเพื่อเผยแพร่ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ จึงโปรดให้ตั้งโรงพิมพ์หลวง (หรือ โรงพิมพ์อักษรพิมพ์การ) และมีการหล่อตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้นใช้ ในชั้นต้นโปรดเกล้าฯ ให้ทำเป็นหนังสือพิมพ์ข่าวออกเป็นระยะๆ เรียกว่า “ราชกิจจานุเบกษา” (ผลิต พ.ศ.๒๔๐๑, รายปักษ์) ภายหลังโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์หมายประกาศ และให้พิมพ์ตลอดเรื่องแทน จากหลักฐานพบว่า ในรัชสมัยของพระองค์ มีหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร จำนวน ๕ ฉบับ เป็นภาษาไทย ๑ ฉบับ และภาษาอังกฤษ ๔ ฉบับ