Search
ด้านสาธารณูปโภค
ถนน ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มตัดถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร และขุดคลองผดุงกรุงเกษม คลองวัดไตรมิตร คลองสีลม คลองวัดสุทธิวราราม คลองขวาง คลองมหาสวัสดิ์
สะพาน จุลลดา ภักดีภูมินทร์ (๒๕๔๕) ได้กล่าวถึงสะพานข้ามคลองว่า “แรกเริ่มเดิมที ก่อนรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ จนถึงต้นรัชกาลที่ ๔ สะพานข้ามคลองรอบพระนครชั้นใน (คลองบางลำพู-โอ่งอ่าง ซึ่งขุดในรัชกาลที่ ๑) และสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม (คลองรอบพระนครชั้นนอกขุดในรัชกาลที่ ๔ พ.ศ.๒๓๙๕) ล้วนเป็นสะพานไม้ทั้งสิ้น จนกระทั่งถึง พ.ศ.๒๔๐๔ จึงได้มีการสร้างสะพานเหล็กขึ้นสองแห่งเป็นครั้งแรก คือ สะพานเหล็กบนข้ามคลองบางลำพู-โอ่งอ่าง เชื่อมต่อระหว่างถนนเจริญกรุง ในกำแพงพระนครกับนอกกำแพงพระนคร เป็นสะพานเหล็กไขให้เปิดปิดได้ เพราะสมัยก่อนยังมีขบวนเรือแห่พระราชพิธีอยู่ กับโปรดฯ ให้รื้อสะพานหันเดิม ซึ่งเป็นสะพานไม้หันได้ สร้างเป็นสะพานเหล็กแบบเดียวกันอีกสะพานหนึ่ง” เพื่ออำนวยความสะดวกในการคมนาคม การค้าขาย และเป็นการอนุโลมตามความต้องการของชาวตะวันตกที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพ
กระบอก ดับเพลิง ทำด้วยทองเหลือง เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๘ นิ้ว ยาว ๑.๓๓ เมตร (ยืดเต็มที่ ๒ เมตร) ฉีดน้ำได้ไกล ๕๐-๖๐ เมตร สูงถึงหลังคาตึก 3 ชั้น ภาพจาก : URL : http://i176.photobucket.com/albums/w176/mrtbtt/35.jpg |
ดับเพลิง ทรงมีพระราชหัตถเลขาสั่งให้ราชทูตที่ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับอังกฤษ หาซื้อเครื่องดับเพลิงมาใช้ในพระบรมมหาราชวัง (เผ่าทอง ทองเจือ. ๒๕๕๐)
สาธารณสุข ทรงให้ออกประกาศห้ามราษฎรทิ้งซากสัตว์ลงน้ำ เพราะการใช้น้ำที่ไม่สะอาดเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ และเตือนราษฎรให้ระมัดระวังเรื่องไฟไหม้โดยเฉพาะไฟที่เกิดจากเตาไฟ และแนะนำให้ทำเตาไฟด้วยอิฐและปูน (กนกวลี ชูชัยยะ. ๒๕๔๗. หน้า ๖๔) และ ในคราวที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เป็นแม่กองขุดคลองมหาสวัสดิ์ ท่านได้สร้างศาลาอาศัยริมคลอง ประมาณ ๑๐๐ เส้นต่อ ๑ หลัง เป็นระยะๆ และท่านได้ให้เขียนตำรายารักษาโรคต่างๆ ติดไว้เป็นการกุศล คนจึงเรียกศาลานั้นว่า “ศาลายา” และมีศาลาอีกหลังหนึ่งท่านสร้างขึ้นเป็นที่บำเพ็ญกุศลศพท่าน เรียกว่า “ศาลาทำศพ” (สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร. ๒๕๐๘. หน้า ๑๗๘-๑๗๙) สำหรับการแพทย์สมัยใหม่ทรงโปรดให้หมอบลัดเลย์ หมอเฮาส์รักษา ใช้ยาฝรั่ง ทำพระทนต์ปลอม (สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. ๒๕๔๘ และประยุทธ สิทธิพันธ์. ๒๕๑๖. หน้า ๑๕๘-๑๖๒) และพบบันทึกของพระสังฆราชปัลเลอร์กัวซ์สั่งซื้อเซอมัง กองตร้า (Semen Contra) นำมาทำยาลูกอมแจกเด็กๆ เพื่อใช้รักษาเด็กที่มีพยาธิ (สมศรี บุญอรุณรักษา. ๒๕๕๐. หน้า ๑๗๕)