Search


การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงระบุไว้ว่า “...ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีคนไทย ๕ คน ที่เรียนวิชาความรู้ของฝรั่งจากพวกอเมริกันได้อย่างเยี่ยมยอด คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงผนวชอยู่ ทรงศึกษาทางวิชาภาษาพระองค์ ๑ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาทางวิชาการทหารพระองค์ ๑ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงศึกษาวิชาการแพทย์พระองค์ ๑ สมเด็จพระเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ตั้งแต่ยังเป็นหลวงนายสิทธิ์ ศึกษาวิชาต่อเรือกำปั่นคน ๑ นายโหมด อมาตยกุล ศึกษาวิชาช่างกลคน ๑ ...” (๒๐๐ ปี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรวงษาธิราชสนิท. ๒๕๕๑. หน้า ๒๘)

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
(พ.ศ.๒๓๕๑-พ.ศ.๒๔๒๕)
ภาพจาก : ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. หน้า ๑๕๒.
พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อย ต้นสกุลสุประดิษฐ์
(พ.ศ.๒๓๖๗-พ.ศ.๒๔๐๕)
ภาพจาก : ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. หน้า ๑๕๒.


เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ ทรงสนับสนุนให้เตรียมคนซึ่งเป็นกำลังหลักในพัฒนาประเทศในอนาคต โดย ทรง สนับสนุนให้พระราชโอรส พระราชธิดา มีการศึกษา และขยายโอกาสการการเรียนรู้สู่ขุนนาง ตลอดจนราษฎรสามัญชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาภาษาต่างประเทศ เพื่อเป็นการเปิดมุมมองและเรียนรู้วิทยาการจากต่างประเทศ ได้แก่ วิชาฟิสิกส์ เคมี การชุบโลหะด้วยแร่เงินแร่ทอง (สมศรี บุญอรุณรักษา. ๒๕๕๐. หน้า ๑๗๒-๑๗๔) การเดินเรือ การแพทย์ตะวันตก การผลิตเหรียญกษาปณ์ โรงพิมพ์ การสื่อสาร การทหาร การเกษตร การถ่ายภาพ งานด้านวิศวกรรม เช่น การทำถนน เป็นต้น รวมทั้งส่งบุคลากรไปศึกษาดูงานโดย “โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธรไปดูงานการปกครอง และการทำนุบำรุงบ้านเมืองที่สิงคโปร์ ในปี พ.ศ.๒๔๐๒...” (แน่งน้อย ศักดิ์ศรี. ๒๕๓๗. หน้า ๒๑๖) อันเนื่องมาจากทรงเล็งเห็นว่า สยามในขณะนั้นต้องการตั้งรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังถาโถมเข้ามาในทุกทิศทาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เศรษฐกิจ ชีวิต สังคมความเป็นอยู่ รวมถึงวัฒนธรรมของสยามในเวลาต่อมา เช่น เลิกประเพณีเข้าเฝ้าตัวเปล่าไม่ใส่เสื้อ ให้พ่อค้าชาวต่างประเทศเข้าเฝ้าในมหาสมาคมได้ ให้ราษฎรรับเสด็จหรือเข้าเฝ้า หรือแสดงความเคารพโดยการตกแต่งเครื่องบูชาที่หน้าบ้าน ให้ถวายถวายฎีการ้องทุกข์ต่อพระหัตถ์เองได้ ให้ชาวต่างชาติทักทายโดยการสัมผัสมือ หรือยืนเพื่อการถวายความเคารพ (สมบัติ พลายน้อย. ๒๕๒๗. หน้า ๒๙-๓๐ และสมศรี บุญอรุณรักษา. ๒๕๕๐. หน้า ๘๗, ๙๑)